ข่าว

'เครดิตบูโร' คืออะไร ติดเครดิตบูโร กี่ปี ทำยังไงหาย เช็กที่นี่

'เครดิตบูโร' คืออะไร ติดเครดิตบูโร กี่ปี ทำยังไงหาย เช็กที่นี่

06 มี.ค. 2566

'เครดิตบูโร' คืออะไร ติดเครดิตบูโร กี่ปีหาย รวมทุกข้อข้องใจ แก้เครดิตเสีย ให้กลับมาดีอีกครั้ง ก่อนถูก แบล็กลิสต์

“เครดิตบูโร” ถูกพูดถึงบนหน้าสื่อ เมื่อ “กรณ์ จาติกวณิช” ตอบโต้ธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีปล่อยคลิป กล่าวหานโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์ของพรรคชาติพัฒนากล้า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 ซึ่งไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง พร้อมยืนยัน ไม่ได้ยกเลิกเครดิตบูโร

 

เครดิตบูโร คืออะไร เมื่อถูกยกมาเป็นนโยบายหาเสียง ของพรรคการเมือง ในช่วงของการเลือกตั้ง 2566 คมชัดลึก รวบรวมข้อควรรู้เกี่ยวกับเครดิตบูโร ทั้งเครดิตบูโร คืออะไร ,ติดเครดิตบูโรกี่ปี หรือ เครดิตบูโรเช็กอะไรบ้าง และต่างอย่างไรกับถูกแบล็กลิสต์ รวมถึงบอกวิธีแก้เครดิตเสียให้กลับมาดีอีกครั้ง

 

เครดิตบูโรคืออะไร

 

เครดิตบูโร ดูแลโดย บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อ และประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งส่งมาจากสถาบันการเงินและบริษัทที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร โดยเราสามารถตรวจสอบเครดิตของตัวเองได้ในทุกๆ ปี เปรียบเหมือนการเช็กสุขภาพการเงินประจำปีของเราได้เลย โดยข้อมูลที่จัดเก็บหรือรายงานในเครดิตบูโรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

 

1. ข้อมูลบ่งชี้

 

คือ ข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ถึงตัวลูกค้า ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด (ไม่มีการจัดเก็บหมายเลขโทรศัพท์) ข้อมูลที่อยู่ที่ลูกค้าแจ้งกับสถาบันการเงิน และบริษัทที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร

 

2. ข้อมูลสินเชื่อ

 

ที่ได้รับอนุมัติและประวัติการชำระหนี้ จำแนกเป็นรายบัญชีที่มีอยู่ในแต่ละสถาบันการเงินและบริษัทสมาชิก โดยมีข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้

  • สรุปข้อมูลบัญชีสินเชื่อ ซึ่งจะบอกว่าลูกค้ามีสินเชื่ออยู่ทั้งหมดกี่บัญชี มีจำนวนบัญชีที่ใช้สิทธิแก้ไขข้อมูลหรือโต้แย้งกี่บัญชี
  • ประเภทและเลขที่บัญชีของสินเชื่อ
  • ชื่อผู้ให้สินเชื่อ
  • วงเงินที่ได้รับอนุมัติ และวงเงินที่ใช้ไป
  • สถานะของบัญชี เช่น ปกติ  ปิดบัญชี พักชำระหนี้ ค้างชำระหนี้
  • รายละเอียดการชำระหนี้ ซึ่งจะแสดงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา ทั้งที่ชำระตรง ชำระล่าช้า หรือผิดนัดชำระ
  • ​ข้อมูลอื่นๆ เช่น วันที่เปิดบัญชี วันที่ชำระหนี้ล่าสุด วันที่ปิดบัญชี วันที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ​

 

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการขอสินเชื่อ หรือทำบัตรเครดิตเป็นอย่างมาก เพราะทางสถาบันการเงินจะใช้สิ่งนี้พิจารณาในการอนุมัติการกู้ต่างๆ ซึ่งถ้าหากพบว่ามีการผิดชำระหนี้ หรือมีประวัติชำระล่าช้า รายชื่อจะไปปรากฏอยู่ในรายงานเครดิตบูโร ซึ่งอาจมีผลต่อการปล่อยเงินกู้ หรือ ทำบัตรเครดิต ของสถาบันการเงิน

 

วิธีการตรวจเครดิตบูโร

 

1. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรกรุงเทพฯ และปริมณฑล รับรายงานได้ภายใน 15 นาที

 

  • อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา) เวลา 9.00-16.30 น. หยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์
  • อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อกชั้น 3 (BTS อารีย์ ทางออก 1)  เวลา 9.00 -18.00 น. หยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์
  • สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) เวลา 9.00-18.00 น. หยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์
  • ท่าวังหลัง (บริเวณทางเข้า-ออก ท่าเรือ และใกล้ประตู 8 ของโรงพยาบาลศิริราช) เวลา 9.00-18.00 น. ทุกวัน
  • สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต (ภายในสถานี) 9.00-18.00 น. ทุกวัน
  • ห้างเจเวนิว (นวนคร) ชั้น 3 ติดประกันสังคม เวลา 9.00 น.-18.00 น. ทุกวัน 

 

2. ที่ทำการไปรษณีย์ เฉพาะสาขาที่ให้บริการ

 

  • ติดต่อสอบถาม Contact Center โทร.1545 หรือ www.thailandpost.com (แบบส่งรายงานกลับไปให้ภายใน 7 วัน ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนค่าบริการ 150 บาท)

 

3. ธนาคารที่เป็นตัวแทนรับคำขอตรวจเครดิตบูโร (เฉพาะกรณีบุคคลธรรมดาเท่านั้น) รับรายงานทางไปรษณีย์ภายใน 7 วัน

 

4. บริการยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรผ่านตู้ ATM

 

  • โดยมีบัตรธนาคารไหนใช้ตู้ ATM ธนาคารนั้น บริการผ่านตู้ ATM กรุงไทยและไทยพาณิชย์เพียงเสียบบัตรทำรายการผ่านหน้าจอเลือกเมนู "ตรวจเครดิตบูโร" จัดส่งรายงานกลับภายใน 7 วันทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ค่าบริการ 150 บาท

 

5. ตรวจเครดิตบูโรผ่าน Mobile Banking

 

  • สามารถการยื่นคำรายงานเครดิตบูโรได้ผ่านระบบ Mobile Banking ของธนาคารต่าง ๆ เช่น MyMo (ธนาคารออมสิน) , Krungthai NEXT (ธนาคารกรุงไทย) , ttb touch (ธนาคารทีทีบี) , KKP Mobile (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) เป็นต้น

 

หลักเกณฑ์ในการประเมินผู้ติดเครดิตบูโร

 

  • หมายเลข 10 = ผู้ใช้บัตรเครดิตบัญชีนี้ มีสถานะ “ไม่ติดเครดิตบูโร” มีพฤติกรรมจ่ายเงินตามนัดหมายครบถ้วน ตรงต่อเวลา และไม่มียอดหนี้ชำระค้างใดๆ
  • หมายเลข 11 = ผู้ใช้บัตรเครดิตบัญชีนี้ มีสถานะ “ปิดบัญชี” มีประวัติติดเครดิตบูโร แต่ชำระเครดิตบูโรกับการขอสินเชื่อที่ค้างไว้หมดสิ้นจนปิดบัญชีเรียบร้อย
  • หมายเลข 12 = ผู้ใช้บัตรเครดิตบัญชีนี้ มีสถานะ “พักชำระหนี้” ภายใต้โครงการของรัฐ จึงทำให้ไม่ติดเครดิตบูโร
  • หมายเลข 20 = ผู้ใช้บัตรเครดิตบัญชีนี้ มีสถานะ “มีหนี้ชำระค้าง” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอยู่ ทำให้ผู้ได้รับหมายเลขนี้ติดเครดิตบูโร และถูกปฎิเสธการทำสินเชื่อกับธนาคารสูง

 

ติดเครดิตบูโรต้องรอกี่ปี

 

คำถามยอดฮิต คือ ติดเครดิตบูโรกี่ปีหาย ใช่ 3 ปี หรือเปล่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่คนมักจะเข้าใจผิดกันเยอะมากๆ เพราะในความเป็นจริงแล้วนั้น เวลาจะผ่านไป 10-20 ปี ประวัติก็จะยังติดอยู่ในระบบอยู่ แต่มี 2 วิธีหลักๆ ในการแก้ติดเครดิตบูโร ดังนี้

 

  • วิธีที่ 1 ผู้ทำเรื่องที่ต้องการทำเรื่องสินเชื่อกับธนาคารด่วน ต้องชำระหนี้ปัจจุบันทั้งหมดให้หมด ภายในระยะเวลา 3 ปีถ้วน เมื่อเคลียร์หนี้ครบหมดแล้ว ทางหน่วยงานติดเครดิตบูโร จะทำการยืนยันสถานะบัตรเครดิตของคุณเป็นหมายเลข 11 ซึ่งหมายถึง “ปิดบัญชี”
  • วิธีที่ 2 ผู้ทำเรื่องที่ต้องการทำเรื่องสินเชื่อกับธนาคาร แต่ไม่มีความรีบร้อนในการทำเรื่อง สามารถรอเวลา 3 ปี เพื่อให้ประวัติติดเครดิตบูโรบัตรเครดิตที่ค้างชำระอยู่นั้น จะถูกลบออกจากระบบศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติอัติโนมัติ

 

แบล็กลิสต์ คืออะไร

 

แบล็กลิสต์ (Blacklist) คือ มีการผิดชำระหนี้ หรือชำระหนี้ล่าช้ากับทางสถาบันการเงินบ่อยเกินไป โดยที่ไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งถ้าผิดชำระเพียงแค่งวดเดียว ก็สามารถสร้างประวัติเสียได้เลย ซึ่งสิ่งนี้จะไปปรากฏอยู่ที่ฐานข้อมูลเครดิตบูโร รวมไปถึงการพักชำระหนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทางบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจะมีหน้าที่รายงานความเคลื่อนไหวของข้อมูลเครดิต จึงเป็นสาเหตุให้ถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อหรือทำบัตรเครดิตในครั้งถัดไป

 

 

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย