เช็ก 10 จังหวัด 'เงินฝาก' สูงสุด-ต่ำสุด ในไทย พบ 88.88% ไม่ถึง 50,000 บาท
ธปท. เปิดข้อมูล 10 จังหวัด ที่มี 'เงินฝาก' สูงสุด-ต่ำสุด รอบปี 2565 ในประเทศไทย พบ เงินฝาก ไม่ถึง 50,000 บาท ถึง 98.52 ล้านบัญชี
การฝากเงิน กับธนาคาร นับเป็นการออมเงิน รูปแบบหนึ่ง ที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นหลักประกันขั้นพื้นฐาน โดยปัจจุบัน เงินฝากธนาคาร จะได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ธนาคารละ 1 ล้านบาทด้วย
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์เงินฝากในประเทศ พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีเงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,897,574 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมาจากแรงส่ง ทั้งการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
จากข้อมูลสถิติของ ธปท. พบว่า 10 จังหวัดที่มียอดเงินฝากสูงสุดในปี 2565 ได้แก่
- กรุงเทพมหานคร ยอดเงินฝากมากที่สุด 10.58 ล้านล้านบาท
- นนทบุรี 586,002 ล้านบาท
- สมุทรปราการ 583,762 ล้านบาท
- ชลบุรี 551,649 ล้านบาท
- ปทุมธานี 345,482 ล้านบาท
- เชียงใหม่ 291,601 ล้านบาท
- นครปฐม 230,548 ล้านบาท
- สมุทรสาคร 196,036 ล้านบาท
- สงขลา 194,187 ล้านบาท
- ระยอง 190,014ล้านบาท
นอกจากนี้ ธปท. ได้แยกยอดรวมเงินฝากออกเป็นรายภูมิภาคพบว่า ภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพฯ) ยอดเงินฝาก มูลค่า 3,665,613 ล้านบาท,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 956,765 ล้านบาท,ภาคเหนือ 835,805 ล้านบาท,ภาคใต้ 861,239 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ข้อมูลเงินรับฝากของธนาคารจำแนกตามจังหวัด จากข้อมูล ธปท.พบว่า จังหวัดที่มีเงินรับฝากน้อยสุดใน 10 จังหวัดแรกในประเทศไทย ณ เดือนธันวาคม 2565 ประกอบด้วย
- แม่ฮ่องสอน 7,452 ล้านบาท
- อำนาจเจริญ 9,295 ล้านบาท
- บึงกาฬ 9,837 ล้านบาท
- สตูล 10,966 ล้านบาท
- หนองบัวลำภู 14,052 ล้านบาท
- มุกดาหาร 15,703 ล้านบาท
- อุทัยธานี 15,903 ล้านบาท
- น่าน 16,188 ล้านบาท
- ชัยนาท 18,060 ล้านบาท
- ยโสธร 18,149 ล้านบาท
โดย ณ สิ้นปี 2565 คนไทยมีบัญชีเงินฝากจำนวนทั้งสิ้น 121.40 ล้านบัญชี โดยเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 110.84 ล้านบัญชี ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบัญชีที่มีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท ถึงจำนวน 98.52 ล้านบัญชี หรือ 88.88% และมีบัญชีผู้ฝากเงินเกิน 500 ล้านบาท อยู่ที่จำนวน 1,023 บัญชี
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทำอะไร
- คุ้มครองเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงิน โดยจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากโดยเร็ว เมื่อสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต
- เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครอง เพื่อสะสมไว้เป็นกองทุนคุ้มครองเงินฝาก สำหรับใช้ในการจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากเงินตามวงเงินและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากสถาบันการเงินใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต
- ชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และนำเงินที่ได้รับจากการชำระบัญชี จ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากในกรณีที่มีเงินฝากเกินวงเงินที่กำหนด
ประโยชน์ของการมีระบบคุ้มครองเงินฝาก
- ประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน : เงินฝากในสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ระบบนี้ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ฯ โดยอัตโนมัติ ผู้ฝากไม่ต้องกังวล หรือ ดำเนินการใดๆ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก เมื่อสถาบันการเงินใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากจะได้รับเงินคืนอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง จะส่งเสริมให้ผู้ฝากเงินติดตามข่าวสารหาข้อมูลทางการเงินมากขึ้น
- ประโยชน์ต่อระบบการเงิน : สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง มีการแข่งเสรีตามกลไกตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินมีความเหมาะสม
- ประโยชน์ต่อภาครัฐ : ภาครัฐไม่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนมาจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝาก