ข่าว

รุกฆาตพัฒนา 'สวนยางพารา' ทั่วประเทศ 20 ล้านไร่ รับกระแสรักษ์โลก

รุกฆาตพัฒนา 'สวนยางพารา' ทั่วประเทศ 20 ล้านไร่ รับกระแสรักษ์โลก

09 มี.ค. 2566

กยท. ขับเคลื่อนมาตรฐานสากลการทำ 'สวนยางพารา' ทั่วประเทศ 20 ล้านไร่ สู่มาตรฐานสากล รองรับกระแสรักษ์โลกการันตีภายในปี 2571 ต้องได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านไร่

กยท.เร่งขับเคลื่อนมาตรฐานสากลการทำ "สวนยางพารา" ตามกระแสรักษ์โลก  ยืนยันสวนยางทั้วประเทศ20ล้านไร่ต้องผ่านมาตรฐาน มอก. 14061  การันตีภายในปี 2571 ต้องให้ได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่  เผยเป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่มีศักยภาพเหนือเพื่อนบ้านในการพัฒนาก้าวสู่ตลาดยางพรีเมี่ยม ไร้คู่แข่ง ขายได้ในราคาสูงและมีตลาดรองรับที่แน่นอน 
 

 

 

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย ว่า ในปี 2566นี้ กยท.จะเร่งพัฒนาปรับปรุง"สวนยางพารา" ของไทย  ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก. 14061 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี  โดยสวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.ทั่วประเทศทั้งหมดประมาณ 20 ล้านไร่ จะต้องเป็นสวนยางพาราที่ได้มาตรฐานของประเทศไทย มอก. 14061เพื่อรองรับตลาดยางพาราโลก ที่ได้มีการนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นมาตรฐานในการรับซื้อยางและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากยางพารา โดยจะมีตรวจสอบแหล่งที่มาแบบย้อนกลับ 

“กระแสรักษ์โลก อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะเป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อสินค้าของประเทศผู้นำเข้า  ดังนั้นเกษตรกรชาวสวนยางจะต้องตื่นตัวในการปรับปรุงและพัฒนา "สวนยางพารา" ให้ได้มาตรฐาน  ซึ่งจะเป็นโอกาสทองเกษตรกรของที่จะสามารถขายยางที่มาจากสวนยางพาราที่ผ่านมาตรฐาน  ได้ในราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป ในเบื้องต้นไม่น่าต่ำกว่ากิโลกรัมละ 3 บาท  นอกจากนี้ยังมีจะตลาดรับซื้อที่แน่นอนและมีแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการจะถูกบังคับโดยกฎหมายของประเทศผู้นำเข้าว่า จะต้องเป็นยางหรือผลิตภัณฑ์จากยางที่มาจากสวนยางพาราที่ได้มาตรฐานเท่านั้น” นายณกรณ์กล่าว 

ผู้ว่าการ กยท.กล่าวต่อว่า  ขณะนี้มีผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้ ยางพารา เป็นวัตถุดิบหลายรายได้ติดต่อเจรจากับ กยท. เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU) ในการจัดหายางที่มาจาก "สวนยางพารา" ที่ได้มาตรฐาน  ดังนั้นเพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดยางพาราของไทย รองรับกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กยท.จะเร่งส่งเสริมให้เกษตร กรชาวสวนยางปรับปรุงพัฒนาสวนยางพาราให้ผ่านมาตรฐาน  โดยในระยะแรกตั้งเป้าไว้ภายในปี 2571  สวนยาง พาราที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. อย่างน้อยครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 10 ล้านไร่ จะต้องผ่านมาตรฐาน มอก. 14061ที่เหลือภายใน 20 ปี สวนยางพาราของไทยทั้งหมดจะเป็นสวนยางที่ได้มาตรฐาน 

 

 

สำหรับมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก. 14061 นั้น ครอบคลุมตั้งแต่การปลูก การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว  ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจัดการเพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ของสวนป่าไม้เศรษฐกิจในระยะยาว การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ  

 

 

โดยมาตรฐานนี้กำหนดให้มีการป้องกันสวนป่าจากการทำผิดกฎหมายต่างๆ เช่น การลักลอบตัดต้นไม้ การเผาป่า การใช้ที่ดินอย่างผิดกฎหมาย ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และอำนวยประโยชน์แก่ชุมชนในพื้นที่  ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนสากลไม่ว่าจะเป็น Forest Stewardship Council (FSC)  หรือ  Program for the Endorsement of Forest Certification (PEFC) 

 

 

“การพัฒนาปรับปรุงสวนยางพาราให้ได้มาตรฐานดังกล่าวนั้น  เกษตรกรจะต้องเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนา อาจจะยุ่งยากบ้างในช่วงแรก แต่เมื่อทำได้แล้วก็จะเป็นเรื่องปกติในการทำสวนยางพารา และที่สำคัญจะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตจะลดลงในระยะยาว นอกจากนี้ยังจะเป็นโอกาสทองของเกษตรกรที่จะขายยางได้ราคาที่ดี มีตลาดซึ่งเป็นตลาดพรีเมี่ยมรองรับที่แน่นอน รวมทั้งคู่แข่งยังมีน้อย เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาสวนยางให้ได้มาตรฐาน และยังไม่มีหน่วยงานที่รับรองอีกด้วย  ในขณะที่ประเทศไทยมีพร้อมในทุกๆด้าน และ กยท.พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” ผู้ว่าการ กยท.กล่าวย้ำในตอนท้าย