เปิดสาเหตุ ครม. สั่งถอน 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' รัฐมนตรีกว่า 70% ไม่เอาด้วย
เปิดสาเหตุชัด ๆ ครม.มีมติถอน 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' ออกจากวาระการประชุมหลังถกนานกว่า 1 ชั่วโมง รัฐมนตรีหลายคนไม่เอาด้วยเหตุสุ่มเสี่ยง รัฐบาลชุดนี้ทำไม่ได้คงต้องรอรัฐบาลหน้า
กลายเป็นที่จับตาอย่างมากสำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 14 มี.ค.66 โดยเฉพาะการชง "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ของกระทรวงคมนาคม โดยนาย อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แทนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ถูกศาลสั่งให้หยุกปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ตามสำหรับการเสนอ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" เข้าครม.ในครั้งนี้ น่าจับตามองว่านายอธิรัฐ ได้เสนอเป็นวาระจรทั้งที่เรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นเรื่องใหญ่ และได้รับความสนใจจากสื่อมวนและประชาชนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ที่ประชุมครม.ครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมงในการหารือ และถกเถียงถึงประเด็น "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานที่ประชุมครม.จึงมีมติให้ถอนวาระการพิจารณารถไฟฟ้าสายส้มออกไปก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับบรรยากาศการประชุม ครม.ใน วันนี้ประเด็นการเสนอให้ ครม. อนุมัติโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" (บางขุนนนท์-สุวินทวงศ์) เป็นวาระที่มีการพิจารณากันอย่างยาวนานกว่า 1 ชั่วโมง โดยในที่ประชุมมีรัฐมนตรีมากกว่า 70% ที่ไม่เห็นด้วยกับการเสนอครั้งนี้ เนื่องจากว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ยังคงไม่เสร็จสิ้นกระบวนการในชั้นศาลปกครองสูงสุด โดยรัฐมนตรีหลายคนเกรงว่าหากมีการขออนุมัติอาจจะเกิดปัญหาภายหลัง
อย่างไรก็ตาม หลังจากถกเถียงกันเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ในที่ประชุมจึงมีมติให้ถอนวาระการพิจารณารถไฟฟ้าสายสีส้มออกไปก่อน โดยให้ทางกระทรวงคมนาคมกลับไป พิจารณารายละเอียดใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีหลายคนได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ไม่ได้ถูกพิจารณาในการประชุม ครม. ครั้งนี้ ทั้งที่มีการประชุมและหารือกันเป็นเวลานาน
โดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ที่ประชุมครม.ได้ถอนวาระการพิจารณา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยให้เหตุผลว่า ยังมีโอกาสที่จะพิจารณาอนุมัติได้ และมีรัฐมนตรีหลายคนแสดงความเห็นให้บันทึกว่า ไม่เห็นชอบที่จะเข้ามารับพิจารณา ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับฟังความเห็นของครม.ทุกคน และตัดสินใจให้กระทรวงคมนาคมถอนวาระดังกล่าวออกไป
นายสาธิต กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมมีรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วยเยอะพอสมควร โดยมีรัฐมนตรีที่มีการอภิปรายมี 6-7 คน และตนเองได้อภิปรายแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน และรู้สึกสบายใจมากในสิ่งที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจแบบนี้ เพราะตอบคำถามกับสังคมได้
นายสาธิต ระบุต่อว่า ช่วงเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากการจะอ้างว่าที่มีการนำเสนอ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.นั้น เป็นไปเพื่ผลประโยชน์ของประชาชนตามที่กระทรวงคมนาคม ชี้แจ้งว่า หากระยะเวลาช้าออกไปจะเป็นความเสียหายนั้น ตนคิดว่าระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนเสียหายไปมากเท่าไหร่แล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องมีความรอบคอบ เพราะหากอยู่ในช่วงเวลาที่ตอบคำถามได้ มีเหตุผล ที่สำคัญไปกว่านั้นการพิจารณาให้การดำเนนิการสายสีส้มผ่านถือว่ามีความเสี่ยง เพราะศาลปกครองสูงสุดยังพิจารณาเรื่องเหล่านี้อยู่ ดังนั้นจะต้องมีความชัดเจนพอสมควรก่อนที่เห็นชอบ เพราะหากอนุมัติเห็นชอบไปแล้ว ครม.จะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่จะตามมา
"นายอธิรัชในฐานะรักษาการแทนรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมไม่ได้แสดงความเห็นอะไรต่อกรณีดังกล่าว ผมเองเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วย และให้บันทึกลงไปว่าไม่เห็นด้วยขอให้ถอนวาระออกไป นอกจากนี้ยังมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกนะทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติทชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกนะทรวงแรงงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ไม่เห็นด้วยกับการเสนอของกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้เช่นกัน" นายสาธิตกล่าว
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังกานรประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีการพิจารณาอนุมัติ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่า เรื่อง "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ในที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภาพัฒน์การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒฯ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายเรื่องนี้ควรจะรอความชัดเจนก่อนจากศาลปกครองสูงสุดก่อนเมื่อคกก.กฤษฎีกาให้ความเห็นเช่นนั้น ตนจึงมีความเห็นว่าไม่ควรอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนมา อีกทั้งเรื่องเป็นที่จับจ้องของสื่อมวลชมาตลอด
รวมไปถึงตนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่แต่กระทรวงคมนาคมเสนอเป็นวาระจร ซึ่งตนยังไม่มีเวลาไปดูรายละเอียด จึงคิดว่าไม่ควรจะเร่งพิจารณา โดยทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประธานที่ประชุมจึงได้มีมติให้ถอนเรื่อง
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การหารือวาระเกี่ยวกับโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ในครม.ครั้งนี้ รัฐมนตรีหลายคนยังมีข้อกังวลใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับคดีต่าง ๆ ที่ยังคงค้างอยู่ในชั้นศาล ขณะเดียวกันยังมีความเห็นของส่วนราชการหลายแห่ง ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สำนักงบประมาณ ได้รายงานความเห็นประกอบการพิจารณาเข้ามาว่า ควรรอให้มีคำพิพากษาของศาลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มออกมาให้ชัดเจนก่อน
"อย่าไปซีเรียส ถ้าไม่จบในรัฐบาลนี้ก็ต้องจบในรัฐบาลหน้า โดยรถไฟฟ้าสายสีส้มมีสองตอน คือตอนตะวันออก และตอนตะวันตก โดยตอนตะวันออกสร้างเรียบร้อยแล้ว เหลือตอนตะวันตกยังไงก็ต้องสร้าง ในฐานะเป็นรัฐมนตรีที่กำกับดุแลกระทรวงคมนาคม ยอมรับว่าคงทำเรื่องนี้ไม่ได้แล้ว และคงต้องรอรัฐบาลใหม่มาพิจารณาอนุมัติ อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการเกิดปัญหาจำเป็นต้องเปิดประมูลใหม่หรือไม่นั้น หากไม่สามารถพิจารณาได้ทันรัฐบาลนี้ ก็อยู่ที่ครม.ชุดต่อไปว่าจะทำต่อ หรือล้มประมูล ประมูลใหม่ ก็เป็นเรื่องอนาคตแล้ว"
สำหรับโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" (บางขุนนนท์-สุวินทวงศ์) ถือว่าเป็นเส้นทางที่ยาวรองลงมาจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว (คูคต-เคหะสมุทรปราการ,สนามกีฬา-บางหว้า) โดย "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" มีระยะทาง 35.9 กม. จำนวน 28 สถานี วิ่งเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด 142,000 ล้านบาท