ข่าว

'วิกรม กรมดิษฐ์' ยกทรัพย์สิน '20,000 ล้าน' ให้มูลนิธิอมตะเพื่อสังคม

'วิกรม กรมดิษฐ์' ยกทรัพย์สิน '20,000 ล้าน' ให้มูลนิธิอมตะเพื่อสังคม

17 มี.ค. 2566

"วิกรม กรมดิษฐ์" ซีอีโอใหญ่แห่งอมตะ ถือโอกาสวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 70 ปี ประกาศยกทรัพย์สินส่วนตัวให้กับมูลนิธิอมตะ กว่า 20,000 ล้านบาท หรือกว่า 95% ของทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อสาธารณประโยชน์

ในโอกาสวันที่ 17 มี.ค. เป็นวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 70  วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA และประธานมูลนิธิอมตะ ได้ประกาศมอบทรัพย์สินส่วนตัว มูลค่ากว่า 95% ของทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมด หรือ ประมาณ 20,000 ล้านบาท ให้กับมูลนิธิอมตะ

 

ทั้งที่เป็นที่ดิน อาคาร คอนโดมิเนียม หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงทรัพย์สินส่วนตัวอื่นๆ เพื่อนำไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งมูลนิธิฯ รวมถึงจะลดบทบาทจากซีอีโอ AMATAไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท 

 

 

วิกรม กรมดิษฐ์ ซีอีโอใหญ่แห่งอมตะ

 

 

วิกรม กรมดิษฐ์  เป็นชาวจังหวัดกาญจนบุรี  เกิดวันอังคารที่ 17 มีนาคม 2496   เป็นบุตรชายคนโตของตระกูล มีน้องมารดาเดียวกันและต่างมารดารวม 21 คนจบการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์เครื่องกลจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน

 

เมื่อจบการศึกษาในปี พ.ศ.2518 วิกรม กลับมาได้เปิดบริษัททำธุรกิจนำเข้าส่งออก ต่อมาได้หันมาบุกเบิกธุรกิจด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ชื่อ บางปะกง อินดัสเทรียล ปาร์ค จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด  บนที่ดินทั้งหมดกว่า 6 หมื่นไร่ มีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 1,200 แห่ง ในประเทศไทย ในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง

 

 

วิกรม กรมดิษฐ์ ซีอีโอใหญ่แห่งอมตะ กับหนังสือที่เขาเขียนบอกเล่าประสบการณ์ชีวิต

 

 

 

ปัจจุบัน วิกรม ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ นอกจากนี้ วิกรม ยังมีความสนใจการเขียนหนังสือ ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต  

 

ในปี 2549 - 2551 ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บส์ให้ติดอันดับ 40 มหาเศรษฐีในเมืองไทย และในปี 2551 Foreign Direct Investment magazine (fDi) ในเครือของFinancial Times Group จากลอนดอน ได้มอบรางวัล fDi Personality of the Year 2008-Asia 

 

นอกจากนี้เมื่อปี 2535-2536  ยังเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโยยีและสิ่งแวดล้อม และเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรว
อุตสาหกรรม ในปี 2536-2538 


เมื่อปี 2539 มูลนิธิอมตะ ก่อตั้งขึ้นภายใต้จุดเป้าหมายสนับสนุนแนวคิดสร้างสรรค์ทางการศึกษาให้กับเยาวชน การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม 

 

 

อมตะคาสเซิล ภาพจากมูลนิธิอมตะ

 

 

นอกจากนี้ยังมี อมตะคาสเซิล ซึ่งถือกำเนิดจากแนวคิดศิลปะในยุคสุวรรณภูมิ ดำเนินการก่อสร้างโดย บริษัท ไทยโอบายาชิ จำกัด เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ตัวอาคารเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก 8 ชั้น มีพื้นที่ทั้งหมด 25,315 ตารางเมตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ และเป็นศูนย์กลางการจัดแสดงผลงานทางด้านศิลปะแขนงต่าง ๆ ในเอเชีย เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดประชุมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
 

 

วิกรม กรมดิษฐ์ ซีอีโอใหญ่แห่งอมตะ บริจาคทรัพย์สิน 2 หมื่นล้านเพื่อสังคม