ข่าว

‘โครงการผันน้ำยวม’ ได้หรือเสียโอกาสในการทำกิน

‘โครงการผันน้ำยวม’ ได้หรือเสียโอกาสในการทำกิน

20 มี.ค. 2566

"โครงการผันน้ำยวม" เป็นโครงการที่กำลังอยู่ในความสนใจ เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการจำนวนมาก ทั้งเกษตรกร และประชาชนในลุ่มเจ้าพระยาที่ได้รับประโยชน์หลายสิบล้านคน และผู้ที่เสียประโยชน์จากโครงการ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องสูญเสียพื้นที่ทำกิน

 

โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือ "โครงการผันน้ำยวม" เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีวัตถุประสงค์ในการผันน้ำจากแม่น้ำยวมมายังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลที่สามารถรองรับปริมาณน้ำเก็บกัก ได้กว่า 13.4 พันล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉลี่ยแต่ละปีจะเก็บน้ำได้ไม่ถึง 1 ใน 3 เท่านั้น แล้วมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำของประชาชนบริเวณเหนือเขื่อนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี 
 

 

คาดว่าโครงการผันน้ำยวมนี้จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำเก็บกักรวมเฉลี่ย 7.4 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปริมาณที่เก็บกักได้มากขึ้น จึงสามารถนำมาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนได้

 

แต่อีกด้านหนึ่งการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำอาจกระทบวิถีชีวิตเดิมของผู้คนจากการท่วมพื้นที่ทางการเกษตรกรรมบริเวณโดยรอบโครงการนี้ เนื่องจากในช่วงเวลาปกติ เมื่อปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลไม่เต็มความจุเก็บกักน้ำ จะมีพื้นที่รอบของเขื่อนที่น้ำยังท่วมไม่ถึงเยอะขึ้น ประชาชนบางส่วนจึงได้อาศัยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ทำกิน ถ้าเมื่อใดน้ำขึ้นหรือมีน้ำมาเติมอ่างเก็บน้ำ จะทำให้บริเวณพื้นที่รอบเขื่อนน้อยลง จึงอาจทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการทำมาหากินได้ 

 

ห้วยแม่งุด


นายวันชัย สีนวน อายุ 48 ปี ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด หมู่ 6 ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าทางหน่วยงานได้เคยมาสำรวจแล้วทำการประเมินผลกระทบพบว่ามีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเพียง 4 ครัวเรือนเท่านั้น แต่ความเป็นจริงมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบรวมกว่า 175 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ทำการเกษตร ปลูกลำไย และชาวบ้านที่เดินทางสัญจรข้ามลำห้วยแม่งูดเป็นประจำ

 

วันชัย สีนวน


 

 

“ถ้าน้ำมาตลอดก็น่าจะดีกับชุมชนเรา แต่โครงการแจ้งว่าจะทำการผันน้ำเฉพาะในฤดูฝนซึ่งปริมาณน้ำในลำห้วยแม่งูดมีเยอะอยู่แล้ว เลยเหมือนเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านไปอีก เพราะจะไปท่วมพื้นที่ทำกิน การให้เงินชดเชยเพื่อให้ย้ายไปที่อื่น ก็อาจไม่เพียงพอเพราะปัจจุบันที่ดินหายากขึ้นเรื่อยๆ ไม่รวมถึงชาวบ้านที่ตอนนี้ทำกินในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เราเลยยังไม่รู้ว่าจะได้รับเงินชดเชยหรือไม่”

 

ห้วยแม่งุด


กรมชลประทานได้ชี้แจงว่า มีการเตรียมพร้อมเรื่องการชดเชยไว้สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ และไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตัวอย่างกรณีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่มีการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ แม่งัด - แม่กวง คล้ายกับโครงการผันน้ำยวม กรมชลประทานได้มีการชดเชยที่ดินทำกินไว้ให้กับประชาชน ทั้งในส่วนที่มีเอกสิทธิ์ประเภทโฉนด, นส.3, นส.3ก รวมทั้งที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือมีเพียง สค.1 และกรมชลประทานเองก็ได้ดำเนินการสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นการส่งน้ำด้วยระบบท่อมายังหมู่บ้านแม่งูด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมของบ้านแม่งูดและบ้านตีนตก เพื่อลดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมส่งเสริมการเกษตรและพัฒนาอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย


การดูแลชดเชยที่ดินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบนี้ เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการได้รับประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรเขตชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำปิง กรมชลประทานระบุว่าจะสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งได้กว่า 1.6 ล้านไร่ รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่ใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคจำนวน 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับประชาชนมูลค่ามากกว่า 8.8 พันล้านบาท