ข่าว

กทม. ชวนปิดไฟ ‘ลดโลกร้อน’ พร้อมเมืองใหญ่ทั่วโลก

กทม. ชวนปิดไฟ ‘ลดโลกร้อน’ พร้อมเมืองใหญ่ทั่วโลก

20 มี.ค. 2566

กทม. ชวนปิดไฟ 1 ชั่วโมง ‘ลดโลกร้อน’ พร้อมเมืองใหญ่ทั่วโลก ร่วมกันแสดงพลังลดภาวะโลกร้อน โดยพร้อมใจกันปิดไฟที่ไม่ใช้งานเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566 ตั้งแต่ 2 ทุ่มครึ่ง ถึง 3 ทุ่มครึ่ง

 

นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครขอเชิญชวนทุกภาคส่วนและพี่น้องประชาชน ทั้งที่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้ร่วมกันแสดงพลังลดภาวะโลกร้อน โดยพร้อมใจกันปิดไฟที่ไม่ใช้งานเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566 ตั้งแต่ 2 ทุ่มครึ่ง ถึง 3 ทุ่มครึ่ง พร้อมกับนานาประเทศทั่วโลก

 

 

และเชิญชวนร่วมแชร์การมีส่วนร่วมกิจกรรม ด้วยการติดแฮชแท็ก คำว่า #EarthHour หรือ #BiggestHourForEarth หรือ #ShapeOurFuture หรือ #อนาคตเราสร้างได้  ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องช่วยกันโอบกอดโลกด้วยความรัก เพราะโลกคือ “บ้าน” หลังเดียวของเราทุกคน มาร่วมกันเปลี่ยนโลกในวันนี้ เพื่อโลกของเรา เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต

 

กทม. ชวนปิดไฟ ‘ลดโลกร้อน’
 

นายชัชชาติ  เปิดเผยว่า  กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญต่อปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก จึงได้รณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในกิจกรรมที่ดำเนินการคือกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน โดยร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wild Fund for Nature) หรือ WWF ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน รณรงค์ในกิจกรรมดังกล่าว ด้วยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ร้านค้า และประชาชนลดการใช้พลังงานและปิดไฟที่ไม่จำเป็น 
 

 

เช่น ไฟประดับ ไฟอาคาร ป้ายโฆษณา การถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมกับเมืองต่างๆ กว่า 7,000 เมือง 190 ประเทศทั่วโลก ระหว่างเวลา 20.30 - 21.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคมของทุกปีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 ผลจากการจัดกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour)”

 

กทม. ชวนปิดไฟ ‘ลดโลกร้อน’

 

ในปี 2565 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 78 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการปัญหาโลกร้อนได้ 20 ตัน และคิดเป็นมูลค่า 176,172 บาท และจากการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 - 2565 สามารถลดกระแสไฟฟ้าได้ 22,476 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการปัญหาโลกร้อนได้ 12,255 ตัน คิดเป็นมูลค่า 81 ล้านบาท 


สำหรับปี 2566 WWF กำหนดให้การจัดกิจกรรมปิดไฟฯ ตรงกับวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และภาคีเครือข่าย ภายใต้การดำเนินงานโครงการพลังงานสะอาดเข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) จัดงาน “Energy เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก” ในวันที่ 25 - 26 มีนาคม 2566 ระหว่างเวลา 16.30 - 21.30 น. ณ บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน โดยมีกิจกรรมส่งเสริมลดการใช้พลังงานหลากหลายรูปแบบ อาทิ ฟังทอร์ค เดินดูบูธ และเยี่ยมชมนิทรรศการ เพื่อ “ร่วมจินตนาการ…เปลี่ยนผ่านพลังงานในรุ่นเรา” อีกทั้งร่วมฟังเวทีเสวนานโยบายด้านพลังงาน และมาร่วมปิดไฟที่ไม่จำเป็น ในกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2023) 

 

กทม. ชวนปิดไฟ ‘ลดโลกร้อน’

 

  • วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 

เริ่มตั้งแต่เวลา 16.30 น. ผู้ร่วมงานจะได้รับฟัง Talk จากเวที “The Ener จิ้น’s Talk : เป้าหมาย Net Zero…สู่อนาคตพลังงานสะอาด” เพื่อเปิดมุมมองเรื่องการใช้พลังงานในเมือง และเปิดไอเดียภูมิทัศน์ของเทคโนโลยีพลังงานปัจจุบัน การเสวนา “เปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างไรให้เป็นธรรม” จัดโดย บริษัท ป่าสาละ จำกัด เพื่อเสนอกลไกและหาทางออกด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมและให้สังคมได้ประโยชน์ร่วมกัน และปิดท้ายด้วยกิจกรรม “Earth Hour: ปิดเพื่อเปลี่ยน…สู่อนาคตพลังงานสะอาด” ในกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2023)” เวลา 20.30 - 21.30 น. โดยระหว่างการปิดไฟฯ รับฟังทอล์กเปลี่ยนความเข้าใจผิดเรื่องการประหยัดพลังงาน โดย รศ.ดร.แนบบุญ หุนเจริญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีการแสดงดนตรี และโชว์การแสดงหุ่นเงา โดยกลุ่ม Mommy Puppet ในเรื่องการเดินทางสู่อนาคตด้านพลังงาน ก่อนการรายงานผลการปิดไฟจากการไฟฟ้านครหลวง 

 

กทม. ชวนปิดไฟ ‘ลดโลกร้อน’

 


สำหรับจุดปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ ประกอบด้วย 5 สถานที่หลัก ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง  วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร  เสาชิงช้า  สะพานพระราม 8  และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง)  นอกจากนี้ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ได้รณรงค์เชิญชวนผู้ประกอบการ เจ้าของอาคาร สถานที่ อาทิ เอ็มควอเทียร์ ดิเอ็มโพเรียม เซ็นทรัลเวิลด์และห้างสรรพสินค้าเครือเซ็นทรัล ไอคอนสยาม ไบเทคบางนา อาคารการไฟฟ้านครหลวง (บางนา) เทอมินอล 21 อาคารปูนซีเมนต์ไทย เกทเวย์@บางชื่อ อาคารไบหยก โรงแรมเดอะสุโกศล แฟชั่นไอส์แลนด์ พาราไดซ์พาร์ค อาคารทิปโก้ ฯลฯ ร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ และยังมีอาคารบ้านเรือนในถนนมากกว่า 100 สาย พร้อมใจกันร่วมปิดไฟที่ไม่ใช้งาน ลดใช้พลังงานในวันดังกล่าวด้วย

 

กทม. ชวนปิดไฟ ‘ลดโลกร้อน’

 

  • วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 

เริ่มตั้งแต่เวลา 16.30 น. ผู้เข้าร่วมจะได้รับฟังทอล์กจากเวที “The Ener จิ้น’s Talk : การเปลี่ยนผ่านพลังงานบนความต้องการของประชาชน” รวมไปถึงการนำเสนองานวิจัยผ่านบทสนทนาในเวที “Energy Conversation : เส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทย” ปิดท้ายด้วยเสวนาพรรคการเมือง “ชวนพรรคร่วมคิด: ให้พลังงานเป็นมิตรต่อโลก ไปกับความต้องการของประชาชน” 


ซึ่งทั้ง 2 วันของการจัดงานฯ จะมีการออกบูธของเครือข่ายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น Muvmi, Ari around, Flo ไอศกรีมไข่ผำ, สินค้ารักษ์โลก  บูธนิทรรศการ “ร่วมจินตนาการ…เปลี่ยนผ่านพลังงานในรุ่นเรา” และบูธคัดแยกขยะของสำนักสิ่งแวดล้อม รวมถึงนิทรรศการจากเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านพลังงาน และภายในงานจะมีกิจกรรมที่สามารถร่วมสนุกลุ้นรับของที่ระลึกตลอดงาน