รมช.ศึกษาโชว์ผลงานหลักสูตร “ชลกร” พร้อมต่อยอดความร่วมมืออินเดีย-สหรัฐ
คุณหญิงกัลยา ส่งตัวแทนร่วมสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ ที่อินเดีย โชว์ผลงานขับเคลื่อนหลักสูตร “ชลกร” พร้อมต่อยอดความร่วมมืออินเดีย-สหรัฐ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และหารือแนวทางความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำระหว่างกันในอนาคต
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ส่งตัวแทนโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เข้าร่วมงาน 5th International Conference & Expo on Water & Waste Management (WMM) 2023 งานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ ณ ประเทศอินเดีย ในระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา พร้อมต่อยอดความร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำและเครือข่ายทั้งประเทศอินเดียและสหรัฐอเมริกา
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากความสำเร็จในการจัดงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ ครั้งแรกในประเทศไทย “Water and Waste Management International Conference & Expo Thailand : Water for Life” เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำระดับโลกเข้าร่วมงานกว่า 30 ประเทศ รวมถึงการไปศึกษาดูงาน และหารือแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนธันวาคม 2565
ที่ผ่านมาดร.คุณหญิงกัลยา ในฐานะประธานกองทุนบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ จึงได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมงาน 5th International Conference & Expo on Water & Waste Management (WMM) 2023 งานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ ณ ประเทศอินเดีย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และหารือแนวทางความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำระหว่างกันในอนาคต
การเข้าร่วมงาน 5th International Conference Expo Water & Waste Management (WMM) 2023 ดร.คุณหญิงกัลยา ได้ส่งดร.ปริเวท วรรณโกวิท ในฐานะผู้จัดการโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เข้าร่วมการสัมมนาและขึ้นกล่าวบรรยายถึงการทำงานและความสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ในประเทศไทย โดยมีนายธเนศ นะธิศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน สถาบันองค์กรน้ำใต้ดินอเมริกา (American Groundwater Solution : AGS) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำฯ เข้าร่วมด้วย
“คุณหญิงกัลยา ต้องการยกระดับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำในระดับสากล โดยที่ผ่านมาโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ได้มีการประสานงานความร่วมมือไม่เฉพาะเครือข่ายในประเทศเท่านั้น แต่มีการประสานกับเครือข่ายต่างประเทศ จนนำไปสู่การเป็นเจ้าภาพในการจัดงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ ครั้งแรกในประเทศไทย และการได้รับเชิญไปศึกษาดูงานเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จนถึงการได้รับเชิญเข้าร่วมงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำที่ประเทศอินเดียในปีนี้ นับเป็นความสำเร็จ ซึ่งจะนำไปสู่การบูรณาการองค์ความรู้ เชื่อมโยงผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงพันธมิตร จะก่อให้เกิดประโยชน์ และความร่วมมือในด้านต่างๆ มากมายในอนาคต” นางดรุณวรรณ กล่าว
ดร.ปริเวท วรรณโกวิท ผู้จัดการโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ กล่าวว่า งาน 5th International Conference & Expo on Water & Waste Management (WMM) 2023 เป็นงานที่ทางผู้จัดได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาจากหลายประเทศมาร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำรวมถึงปัญหาทั้งน้ำดื่มและน้ำใช้ที่ยั่งยืน โดยในฐานะผู้จัดการโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ได้นำเสนอถึงผลงานของคุณหญิงกัลยาในการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯผ่านวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จนประสบความสำเร็จเกิดหลักสูตร “ชลกร” ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนา และนักศึกษาระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เป็นอย่างมาก
“เราได้นำผลงานของคุณหญิงกัลยา เรื่องการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดากรน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ และหลักสูตร “ชลกร” มาเผยแพร่ว่า เราทำสำเร็จอย่างไร จากจุดเริ่มต้นเพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ บนความยั่งยืน ด้วยการนำศาสตร์พระราชาของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ จนเกิดเป้นหลักสูตชลกร เพื่อนำไปสู่การแก้ท่วม แก้แล้ง แก้จน ซึ่งไม่เพียงแต่ในรั้ววิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังต้องขยายผลสู่ชุมชน เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้จากการมีน้ำกิน-น้ำใช้ได้อีกด้วย”ดร.ปริเวท กล่าว
ดร.ปริเวท กล่าวต่อว่า การมาร่วมงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมไปถึงนำเสนอผลงานในการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในอนาคตทั้งประเทศอินเดียและสหรัฐอเมริกาในการต่อยอดองค์ความรู้และความร่วมมือทั้งในด้านการศึกษาและการบริหารจัดการน้ำต่อไป