‘โครงการผันน้ำยวม’ ช่วยเพิ่มโอกาสในเรื่องการท่องเที่ยวได้อย่างไร
"โครงการผันน้ำยวม" นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้กับประเทศไทยแล้ว ยังช่วยเพิ่มศักยภาพ และสร้างโอกาสในเรื่องการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่โดยรอบจากการพัฒนาที่เข้ามา และปริมาณน้ำที่จะมีตลอดทั้งปี
โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม - อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนล่าง (ท้ายเขื่อนภูมิพล) และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งบริเวณนี้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ที่มีพื้นที่ชลประทานครอบคลุมกว่า 10 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้ง รวมไปถึงเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ในปริมาณมาก
"โครงการผันน้ำยวม" นอกจากจะสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำแล้ว ยังทำให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบโครงการตั้งแต่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, อำเภออมก๋อย, อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ไปจนถึงอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มีโอกาสได้รับประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับการพัฒนาของพื้นที่ และประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่จะนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดี และรายได้ที่เพิ่มมาขึ้นอีกด้วย
แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงบริเวณพื้นที่ของโครงการ ได้แก่ แม่น้ำสองสี จุดชมวิวบ้านห้วยกองมูล วนอุทยานน้ำตกห้วยแม่แสด หมู่บ้านสวยงามบ้านแม่ลามาหลวง พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา ชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยม่วง ดอยพุ่ยโค น้ำตกแม่ริด วัดพระธาตุดอยฮูปแก้วจามเทวี และรอยพระพุทธบาทรังรุ้ง
หลังจากโครงการผันน้ำยวมแล้วเสร็จจะเกิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่คือ เขื่อนน้ำยวม และอ่างเก็บน้ำยวม ยังเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลด้วย โดยจะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้บริเวณโดยรอบเป็นแหล่งท่องเที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งทางกรมชลประทานคาดว่า จะสามารถสร้างผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว จากการที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว และแรงงานเข้ามาทำงานในพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งจะมีการส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้กับคนในพื้นที่ระหว่างช่วงที่ดำเนินโครงการ
อีกทั้งยังมีการพัฒนาถนนเข้าไปสู่ตัวเขื่อนน้ำยวมจะช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมตัวเขื่อน และอ่างเก็บน้ำได้อย่างสะดวก อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบ ทำให้การสัญจรของประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งพื้นที่โดยรอบตัวเขื่อนน้ำยวมเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ยังมีสภาพพื้นที่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์จึงสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Torism) ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวไปเยือนแหล่งธรรมชาติ แหล่งวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ได้
นายบุญยวง เชียงแก้ว อายุ 58 ปี ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่สวดใหม่ได้ให้ความเห็นว่า ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้หลักจากการทำเกษตรกรรม โดยเป็นการทำไร่บนดอยเป็นส่วนใหญ่ จะทำได้แค่ในช่วงฤดูฝนอย่างเดียว พอฝนหยุดตกก็แห้งแล้งจนไม่สามารถทำอะไรได้อีก
การเข้ามาของโครงการผันน้ำยวม น่าจะทำให้ชุมชนเจริญขึ้น ช่วยให้ชาวบ้านที่มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางจากประกอบอาชีพท่องเที่ยว และให้บริการนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในพื้นที่ นอกจากนี้การมีเขื่อนจะทำให้ชาวบ้านที่ทำการเกษตรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้บางส่วนยังสามารถเปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาทำอาชีพนำเที่ยวชมเขื่อนน้ำยวมได้อีกทางหนึ่ง
“ชาวบ้านบางคนกลัวไม่มีที่อยู่อาศัย เพราะที่ดินนี้อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวน ถ้ามีเขื่อนเข้ามาชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน แต่หากมีการการชดเชยที่ดีก็น่าจะช่วยเยียวยาได้ แต่ในภาพรวมคนส่วนใหญ่ในชุมชนทุกคนน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า ทั้งการค้าขายที่จะมีมากขึ้น พอความเจริญกำลังเข้ามา นักท่องเที่ยวก็จะเยอะขึ้น แล้วยังได้ประโยชน์เรื่องไฟฟ้าที่เข้ามาอีกด้วยไฟก็จะไม่ดับ เมื่อความเจริญเข้ามาคนในพื้นที่ที่ออกไปทำงานข้างนอกก็จะกลับมาในพื้นที่กันมากขึ้น เหมือนทะเลสาบดอยเต่าที่เคยเงียบเพราะไม่มีน้ำก็จะได้ประโยชน์”
อีกด้านทะเลสาบดอยเต่า บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลซึ่งเป็นทางออกของอุโมงค์ผันน้ำที่จะได้รับน้ำที่ผันมาจากแม่น้ำยวมเฉลี่ยปริมาณปีละ 1,795 ล้านลูกบาศก์เมตร จะทำให้พื้นที่เขื่อนภูมิพล บริเวณทะเลสาบดอยเต่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งปัจจุบันทะเลสาบดอยเต่าถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ มีผู้ประกอบการแพท่องเที่ยว จำนวน 31 ราย ที่จะได้รับประโยชน์จากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่นี้ประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการแพท่องเที่ยวมีรายได้ในช่วงเดือนกรกฏาคม - มกราคม ที่มีน้ำเพียงพอเท่านั้น
นายสามารถ คำจันทร์ อายุ 36 หนึ่งในผู้ประกอบการแพท่องเที่ยวในดอยเต่า และร้านกาแฟบ้านดินอินเดอะดอย ให้ความเห็นว่าที่ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการแพท่องเที่ยวดอยเต่าประสบกับปัญหาน้ำแล้งมานาน ทำให้แพหลายลำต้องค้างบก แล้วกลับมาใช้การได้เมื่อปีที่ผ่านมาที่ปริมาณน้ำในเขื่อนมีเพียงพอ ระดับน้ำที่ขึ้นลงในแต่ละปีจึงมีผลกับการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่ทำอาชีพแพท่องเที่ยว ชาวบ้านในพื้นที่จะรู้สึกยินดีหากทะเลสาบดอยเต่ามีน้ำตลอดทั้งปี เพราะถ้าแห้งแล้งเหมือนช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจต้องปรับตัวไปเลี้ยงวัวแทน
จากความสำเร็จของการท่องเที่ยวไทยในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศหลายสิบล้านคน สะท้อนถึงสัญญาณบวกของการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี เป็นการดีถ้าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนภูมิพลเพิ่มขึ้น น้ำในทะเลสาบดอยเต่าก็จะเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าความสวยงามของทัศนียภาพของทะเลสาบก็จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น สิ่งนี้อาจเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการสร้างโอกาสให้ชาวบ้านในหมู่บ้านริมทางให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการท่องเที่ยว ทั้งจากอาชีพเกษตรกรรม หรืออาชีพอื่นๆ ในพื้นที่โดยรอบโครงการ ที่จะมีการพัฒนาเพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคงต่อไปอีกด้วย