'เศรษฐกิจไทย' ครึ่งปีหลังชะลอตัว เงินเฟ้อยังแก้ไม่ได้ ลุ้นจีนเปิดตลาด
'อมรเทพ' วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังชะลอตัว ภาพรวมกระจายตัวไม่ดี การท่องเที่ยวอุ้มฟื้นตัวเร็ว ลุ้นจีนเปิดตลาดขณะที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง
การล้มลงของธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ หรือ SVB (Silicon Valley Bank) ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายในระบบตลาดการเงินโลก ส่งผลให้ธนาคารหลายแห่งล้มตามมา รวมถึง ธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) สถาบันการเงินรายใหญ่อันดับสองของสมาพันธรัฐสวิส (สวิตเซอร์แลนด์) แรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
ดร.อมรเทพ จาวะลา นักเศรษฐศาสตร์ สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ทิศทาง "เศรษฐกิจ" ประเทศในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2566 จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ หัวข้อ “ถึงเวลา! ก้าวสู่ทรงใหม่ไทยแลนด์ ” ว่า วิกฤตธนาคารสหรัฐ และยุโรปล้ม ภาคอุตสาหกรรมตั้งคำถามแน่นอนว่า "ลามหรือไม่" ตอบได้เลยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเฉพาะจุด เฉพาะอย่าง ไม่เหมือนปี 2008 ที่เลห์แมนล้ม ตอนนั้นคือปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตจากการลงทุนในอนุพันธ์ด้านอสังหาริมทรัพย์
แต่ตอนนี้คือความเสี่ยงด้านตลาดหรือสภาพคล่อง จากดอกเบี้ยขาขึ้น จึงไม่ลามกระทบเศรษฐกิจไทย
ด้วยธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังชะลอตัวไปจนถึงปลายปี การกระจายตัวไม่ค่อยดี ประเทศจีนจึงเป็นความหวังของไทย เพราะถ้าจีนเปิดตลาด ไทยก็สามารถส่งออกสินค้าได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวได้ ซึ่งรายได้ตรงนี้จะอุ้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น ขณะเดียวกันต้องแบ่งใช้หนี้ประเทศด้วย ส่วนค่าเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงแล้ว ช่วงปลายปีค่าเงินบาทจะแข็งค่า
คำถามต่อไปคือสามารถลงทุนได้เลยหรือไม่ ดร.อมรเทพ บอกว่า ถ้าหากฟังข่าวที่นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ทุกวัน เชื่อว่าคงไม่มีใครกล้าลงทุน เพราะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนในสถานการณ์การเงินโลก แต่กำลังการซื้อ การใช้จ่ายภาคเอกชน กลุ่มระดับกลางในเขตเมืองยังมีกำลังซื้อปกติ
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เสริมด้วยว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังแม้ว่าจีนเปิดตลาด มีโอกาสเริ่มฟื้นตัว แต่ฟื้นแบบน่าเป็นห่วงสถานการณ์ยังต้องพยุง รัฐบาลต้องมีเครื่องมืออัดฉีดสภาพคล่อง ขยายการประกันเงินฝาก เพื่อสร้างความมั่นคง
ส่วนเรื่องเงินเฟ้อยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตอนนี้เราอยู่ในโลกความไม่แน่นอนมากขึ้น ฉะนั้นต้องเชื่อนักเศรฐศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงมีความเสี่ยง ต้องบริหารความเสี่ยงให้ดี
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกยืนยันว่า การล้มของธนาคารสหรัฐและยุโรปมั่นใจไม่กระทบระบบการเงินไทย เพราะธนาคารและกองทุนมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องค่อนข้างต่ำ
ข้อมูล ปี 2565 ระบบ ธพ.ไทย มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) 19.4% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดที่ 8.5% โดยส่วนใหญ่เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1: CET1)
นอกจากนี้ สินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ยังอยู่ในระดับสูงที่ 197.3% และมีหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ในระดับต่ำที่ 2.73%
ขณะที่เงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) สูงถึง 171.9% ซึ่งถือเป็นสถานะที่ดีกว่าช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2551 นอกจากนี้ ยังมีฐานลูกค้าทั้งในฝั่งสินเชื่อและเงินรับฝากที่กระจายตัวไปในกลุ่มรายย่อย ภาคธุรกิจ และ SMEs