'อาคม' ไข้ข้อกังวลภาคเอกชนห่วงรัฐบาลรักษาการ ยืนยันไม่กระทบเศรษฐกิจ
เอกชนห่วงรัฐบาลรักษาการกระทบเศรษฐกิจ 'อาคม' รีบแจ้งไม่กระทบ จีดีพียังโตได้อีก 3-4% ส่วนเงินเฟ้อพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยสัปดาห์หน้า
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อภาคเอกชนหลังจากยุบสภาสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลรักษาการอาจส่งผลกระทบต่อ "เศรษฐกิจ" โดยนายอาคม อธิบายว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นปัจจัยภายนอก คือ ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ต่อเนื่องมามกราคมปีนี้ ที่ติดลบต่อเนื่อง ดังนั้น ไทยต้องหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะอาเซียน
ส่วนเรื่องค่าเงินเฟ้อ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกิดความผันผวน ซึ่งมาจากปัจจัยภายนอก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งจะพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายสัปดาห์นี้ แต่ต้องติดตามอัตราแลกเปลี่ยนของเราจะเป็นอย่างไร เพราะค่าเงินบาทมีทั้งอ่อนและแข็งเกินไป แต่มองว่าปัจจุบันยังอยู่ที่เคยแข็งค่าระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ แต่ระดับดังกล่าวนั้น ถือว่าแข็งกว่าปลายปีที่แล้ว
ส่วนเหตุการณ์ธนาคารล้มในสหรัฐและยุโรป ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วว่า ธปท. ยืนยันแล้วไม่ส่งผลกระทบ เพราะมีธุรกรรม หรือการลงุทนในธนาคารนั้นน้อยมาก จึงไม่มีปัญหาต่อระบบธนาคารไทย
นอกจากนี้ ระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินของไทยหลังจากปี 2540 ก็มีความเข้มงวด ทำให้ไทยมีมาตรฐานเข้มแข็ง ซึ่งมีระบบการค้ำประกันเงินฝาก เงินสำรอง บีไอเอสยังสูงกว่ามาตรฐาน หนี้เสียกว่า 2% ดังนั้น สถาบันการเงินยังแข็งแรง
"มองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3-4% และหากถามว่า จะโตได้อีกหรือไม่ ต้องมีเรื่องการลงทุนเข้ามาเพิ่ม โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐต้องลงทุนต่อ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น ในปีก่อนโตได้ 6% แต่ภาครัฐยังโตไม่มาก ต้องเร่งรัดให้มีการใช้จ่ายงบตลอดเวลา" นายอาคม กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลรักษาการ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญซึ่งมีข้อห้ามระบุไว้ชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (2) ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 168 ซึ่ง ครม.รักษาการสามารถประชุมและบริหารราชการแผ่นดินได้ตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 กำหนดไว้ ดังนี้ 1. ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี
2. ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
3. ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน และ 4. ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
ขณะที่ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งปี 2563 เป็นระเบียบที่วางข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม. ขณะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และคำนึงถึงความสุจริต เที่ยงธรรม ความเสมอภาค และโอกาสทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
โดยเงื่อนไขกำหนดห้าม ครม.รักษาการทำอะไรบ้าง มีดังนี้ 1. ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ โดยการกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที และมีลักษณะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
2. จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ นอกเหนือจากการประชุมตามปกติ และมีการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ 3. กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐ หรือเอกชน โดยใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐหรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการประชุมตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน
4. กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการอนุมัติ โอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้หน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ ทั้งการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน
5. กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการแจกจ่ายหรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐให้แก่บุคคลหนึ่ง บุคคลใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน
6. ใช้พัสดุหรือเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือใช้บุคลากรของรัฐปฏิบัติงานเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
และ 7. ใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่ง วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์