'อุตสาหกรรมการบิน' ฟื้นตัว เตรียมรับนักท่องเที่ยว25ล้านคนเยือนไทย
คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน CADT DPU เผยปี 67 อุตสาหกรรมการบินไทยและอาเซียนโตแบบก้าวกระโดด พร้อมรับนักท่องเที่ยว 25 ล้านคน เดินเครื่องศักยภาพทุกมิติ ‘หลักสูตร-พันธมิตร’ ใน-ต่างประเทศ
"อุตสาหกรรมการบิน" ในไทยและภูมิภาคอาเซียน แนวโน้มขยายตัวแบบก้าวกระโดดในปี 2567 หลังสถานการณ์โควิดได้คลี่คลายนำไปสู่การเปิดประเทศ การท่องเที่ยว การสัญจรไปมาทางอากาศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
คาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทย จากเดิม 20 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาเป็น 25 ล้านคนต่อปี
แต่ทว่าอุตสาหกรรมการบิน เรียกได้ว่า ในช่วงสถานการณ์เการระบาดของโควิดมีพนักงาน บุคลากรในอุตสาหกรรมนี้ ตกงานไปจำนวนมาก สวนทางกับทิศทางการเติบโตในอนาคตที่กลับมีความต้องการบุคลากรจำนวนมาก
น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT: College of Aviation Development and Training) และผู้อำนวยการสถาบันการบิน (DAA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินเริ่มกลับมา และเชื่อมั่นว่าจะขยายตัวอีกมากในอนาคต จากคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยว จากเดิม 20 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาเป็น 25 ล้านคนต่อปี เมื่อถึงวันนั้นจะมีความต้องการบุคลากรเข้าไปเสริมทีมอีกเป็นจำนวนมาก
ไม่ใช่แค่นักบินเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ สาขาบริการภาคพื้นและสนับสนุนการบินภาคพื้นในอาคาร สาขางานเทคนิคและฝึกอบรมอาชีพผู้ฝึกด้านระบบการจัดการความปลอดภัย พนักงานสำรองบัตรโดยสาร ฯ
“วิทยาลัยฯ พร้อมเดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตบุคลากรด้านการบิน ท่ามกลางอุตสาหกรรมการบินในไทยและภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวแบบก้าวกระโดดในปี 2567 นับตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562” น.ต.ดร.วัฒนา กล่าว
น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวถึงวิสัยทัศน์ และแผนการดำเนินงานของวิทยาลัยฯ เพื่อมุ่งสู่ศูนย์กลางการผลิตบุคลากรด้านการบินในไทยและอาเซียนในอนาคต พร้อมโฟกัสการพัฒนาหลักสูตร และผสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รวมทั้งองค์กรด้านการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยวางเป้าหมายที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการบินในไทยเติบโตและสามารถรองรับความต้องการเดินทางทางอากาศเป็นจำนวนหลายแสนเที่ยวบินในอนาคต
แผนการเดินหน้าพัฒนาด้านศักยภาพของวิทยาลัยฯ นั้น น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวย้ำว่า จะเกิดขึ้นในทุกมิติ ทั้งด้านการพัฒนาหลักสูตรผลิตบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มากด้วยทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงการผนึกความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และองค์กรการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในด้านหลักสูตร ปัจจุบันเปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาธุรกิจการบิน และสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีการบินและการอำนวยการบิน โดยผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญา ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ)
สำหรับหลักสูตรฝึกอบรมด้านการบินสำหรับบุคคลทั่วไปตามมาตรฐาน องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) เป็นหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานสากลระยะสั้นด้านการบินต่างๆ ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรจาก IATA
นอกจากนี้ได้พัฒนาความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในการพัฒนาทักษะด้านการบินให้แก่บุคลากร ได้แก่ บริษัท ไทยไฟลท์ เทรนนิ่ง จำกัด และ บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัทในเครือของการบินไทย บริษัท พัทยา เอวิเอชั่น จำกัด โรงเรียนการบิน ไทยอินเตอร์ ไฟลอิ้ง ที่จังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนการบินบางกอก แอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ ที่จังหวัดสุโขทัย
ซึ่งองค์กรดังกล่าวจะเปิดรับนักศึกษาของวิทยาลัยฯ เข้าร่วมปฏิบัติงานสหกิจศึกษา (Cooperative and Work-Integrate Education : CWIE) เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานและปูทางสู่เส้นทางอาชีพหลังจบการศึกษา
“จากความร่วมมือดังกล่าว ส่งผลดีอย่างมากทั้งต่อวิทยาลัยฯ นักศึกษา ที่ได้พื้นที่การเรียนรู้ในโลกของการทำงานจริง ขณะที่หน่วยงานเอกชน สามารถมองหาบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเข้าร่วมงาน ซึ่งที่ผ่านมามีนักศึกษาหลายคนที่ไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาแล้วได้ทำงานจริงเมื่อเรียนจบ” น.ต.ดร.วัฒนา กล่าว
พร้อมกันนี้ วิทยาลัยฯ ได้พัฒนาความร่วมมือกับองค์กรการบินและสถาบันการศึกษาด้านการบินในต่างประเทศ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเสริมศักยภาพในแต่ละด้านให้แก่กัน ล่าสุดวิทยาลัยโปลีเทคนิคจากสิงคโปร์ ให้ความสนใจเข้ามาศึกษาการเรียนการสอน รวมทั้งเรียนรู้เครื่องช่วยฝึกบินจำลอง (Flight Simulators) ซึ่งวิทยาลัยฯ มีถึง 3 เครื่องด้วยกัน คือ เครื่องแบบ Boeing 737-800NG จำนวน 1 เครื่อง และแบบ Cessna 172-G1000 จำนวน 2 เครื่อง
ในขณะเดียวกันก็เตรียมพัฒนาความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดขึ้นในอนาคต เช่น การส่งนักศึกษาแลกเปลี่ยนระหว่างวิทยาลัยฯ กับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ เช่นที่เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย
“อยู่ระหว่างการพูดคุยกับสถาบันการศึกษาในอินเดีย ถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันในโมเดล 2 + 2 โดยเรียนที่ไทย และอินเดีย ประเทศละ 2 ปี นอกจากนี้ยังมองถึงโอกาสในการพัฒนาคอร์สเรียนระยะสั้น ทั้งความรู้ด้านการบิน และ คอร์สเรียนภาษา ซึ่งหากแนวคิดนี้เกิดขึ้นได้จริงจะส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองในต่างประเทศ ช่วยเพิ่มศักยภาพในตัวเอง และสร้างโอกาสในเส้นทางสายอาชีพได้อีกมาก” น.ต.ดร.วัฒนา กล่าว
ที่มาข้อมูล วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์