ดีเดย์ 19 เม.ย. ขบวนรถไฟสายประวัติศาสตร์ ส่งออกทุเรียนไปจีน
ส่งออกสินค้าเกษตร"ทุเรียน" จากแหล่งปลูกภาคตะวันออกไปยังประเทศจีนเข้าสู่ภาวะขาขึ้น บริษัทแพน เอเชีย ซิลค์ โรด จำกัด (PAS) เปิดแผน "ส่งออกทุเรียนไทย" โดยใช้โครงข่ายการขนส่งทางรางด้วยรถไฟ เปิดการขนส่งเที่ยวแรก 19 เม.ย.
ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานเปิดงาน "ROAD SHOW ส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทยทางรถไฟ สู่ประเทศจีน" จัดโดยบริษัทแพน เอเชีย ซิลค์ โรด จำกัด (PAS) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยภาคเอกชนกำลังผลักดันแผนงาน"ส่งออกทุเรียนไทย" โดยใช้รถไฟเป็นเครื่องมือในการขนส่งผลผลิตจากแหล่งปลูก ไปยังปลายทางคือสาธารณรัฐประชนจีนที่เป็นผู้สั่งนำเข้า
ที่ห้องประชุมโรงแรมมณีจันท์รีสอร์ทแอนสปอตคลับ อ.เมือง จ.จันทบุรี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานเปิดงาน "ROAD SHOW ส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทยทางรถไฟ สู่ประเทศจีน" จัดโดยบริษัทแพน เอเชีย ซิลค์ โรด จำกัด (PAS) ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร ,บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) , บริษัท โกลบอล มัลติโมคัลโลสติกส์ จำกัด (GML) และมหาวิทยาลัยบูรพา (วิทยาเขตจันทบุรี) นำเสนอ"ส่งออกทุเรียนไทย" แก่ผู้เกี่ยวข้อง ในการกระจายผลผลิตผลไม้ของเกษตรกรจ.จันทบุรี ไปตลาดปลายทางที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ,ผู้แทนหอการค้าจังหวัด , สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้แทนผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ส่งออก ล้งผลไม้ ผู้แทนเกษตรกร และ สหกรณ์ รวมทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมสัมมนารับทราบข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ
ทั้งนี้ในปีนี้ทุเรียนของเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออก คาดว่าจะให้ผลผลิตประมาณ 700,000 ตัน
โดยเป็นผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรจากจ.จันทบุรี 500,000 ตัน , จ.ตราด 100,000 ตัน และ จ.ระยอง 100,000 ตัน และขณะนี้กำลังเริ่มเก็บผลผลิตและมีการส่งออกไปต่างประเทศแล้ว เป็นการขนส่งทางรถยนต์ร้อยละ 70 ทางเรือร้อยละ 10 ทางเครื่องบิน และรถไฟเพียงเล็กน้อย ซึ่งการนำเสนอข้อมูลช่องทางขนส่งสินค้าของบริษัทแพน เอเชีย ซิลค์ โรด จำกัด (PAS) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) , บริษัท โกลบอล มัลติโมคัลโลสติกส์ จำกัด (GML) และมหาวิทยาลัยบูรพา (วิทยาเขตจันทบุรี) เป็นการใช้โครงข่ายรถไฟเป็นบริการขนส่ง
นับเป็นอีกหนึ่งในการขนส่งที่สำคัญ และมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังมณฑลต่าง ๆ ในจีน โดยบริษัท PAS จะเน้นให้บริการร่วมกับพันธมิตรในการให้บริการ Door to Door หรือจากล้งทุเรียนถึงตลาดขายผลไม้ปลายทางที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งทำเอกสารพิธีการทางศุลกากรและเสียภาษีขาเข้า-ออกระหว่างประเทศ นอกจากนี้บริษัท PAS ยังได้จัดเตรียมตู้เย็นคอนเทนเนอร์สำหรับส่งออกผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียน , มังคุดและอาหารทะเลแช่เข็งทั้งปี ส่งออกสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2566 ประมาณ 700-1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ที่สามารถใช้บริการขนส่งทางรถไฟ ตลอดเส้นทางระหว่างประเทศไทยสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน
ส่วนเส้นทางการขนส่ง มีเส้นทางมาบตาพุด - คุณหมิง ใช้ระยะเวลา 3-4 วัน , มาบตาพุด - ฉงชิ่ง ระยะเวลา 4-5 วัน , มาบตาพุด - กวางโจว ระยะเวลา 5-6 วันโดยจะเริ่มให้บริการเดินรถไฟจากประเทศไทยทุกวัน ๆ ละ 1 ขบวน โดยขบวนจะบรรทุกตู้เย็นคอนเทนเนอร์ได้ 30 ตู้ และจะเพิ่มปริมาณขบวนรถไฟตามสินค้าผู้ส่งออก โดยตั้งเป้าปีนี้จะจัดรถไฟบรรทุกสินค้าขาขึ้นและขาลง ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ได้สูงสุด 4 ขบวนต่อวัน
การขนส่งจะมีขบวนวิ่งทุกวันภายใต้คำจำกัดความที่ว่า "ถูกกว่า เร็วกว่า ปลอดภัยกว่า" ทั้งนี้การเดินรถไฟสินค้าทุเรียนสายประวัติศาสตร์ มาบตาพุด-กวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน จะเดินทางเที่ยวแรกในวันที่ 19 เม.ย. และคาดว่าจะใช้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 6 วัน จากสถานีรถไฟมาบตาพุด-หนองคาย-VLP-บ่อเต็น-โม่หาน-สถานีรถไฟกวางโจว เส้นทางดังกล่าวถือเป็นทางเลือก เพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้ากระจายไปต่างประเทศ เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรและสร้างรายได้เข้าประเทศ
มนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานเปิดงาน "ROAD SHOW ส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทยทางรถไฟ สู่ประเทศจีน" จัดโดยบริษัทแพน เอเชีย ซิลค์ โรด จำกัด (PAS) ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร ,บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) , บริษัท โกลบอล มัลติโมคัลโลสติกส์ จำกัด (GML) และมหาวิทยาลัยบูรพา (วิทยาเขตจันทบุรี) ณ ห้องประชุมโรงแรมมณีจันท์รีสอร์ทแอนสปอตคลับ อ.เมือง จ.จันทบุรี
.
ขอขอบคุณภาพจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดจันทบุรี
.