ข่าว

จุดจบ 'ที่ดินเขากระโดง' โยงนักการเมือง-ตระกูลดัง หรือแค่ยื้อเวลา

จุดจบ 'ที่ดินเขากระโดง' โยงนักการเมือง-ตระกูลดัง หรือแค่ยื้อเวลา

10 เม.ย. 2566

จุดจบ 'ที่ดินเขากระโดง' โยงนักการเมือง-ตระกูลดัง จับตา กรมที่ดิน-การรถไฟฯ หรือแค่ยื้อเวลา เมื่อสามารถเพิกถอนเอกสารสิทธิ-ไล่ที่ ได้ทันที

การเดินหน้ากระบวนการ เพิกถอนเอกสารสิทธิ “ที่ดินเขากระโดง” อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีเนื้อที่รวมกว่า 5,000 ไร่ ยืดเยื้อมานานหลายปี เป็นอีกประเด็นใหญ่ ที่หลายคนจับตามอง เพราะไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบต่อประชาชนนับพันรายเท่านั้น แต่ยังมีความเกี่ยวพันกับตระกูล ‘นักการเมืองดัง’ ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ 

 

 

จากคำสั่ง ศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2566 ระบุให้ กรมที่ดิน ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินเขากระโดง ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นฟ้องกรมที่ดิน กรณีละเลยไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดง 

 

แผนที่ ที่ดินเขากระโดง

ถอดรหัสคำสั่งศาลปกครอง ตามมาตรา 61

 

ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ให้อำนาจอธิบดีกรมที่ดิน มีอำนาจเรียกโฉนดที่ดิน หรือเอกสารที่ได้จดทะเบียนสิทธิไว้โดยคลาดเคลื่อน หรือเอกสารที่ได้จดทะเบียนสิทธิไว้โดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาแก้ไขให้ถูกต้อง หรือเพิกถอนเสียได้ แต่อธิบดีกรมที่ดินจะใช้อำนาจตามมาตรานี้หรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของอธิบดี แม้อธิบดีจะไม่ใช้อำนาจนี้ ก็ไม่เป็นการละเมิดต่อผู้ครอบครองที่ดิน ที่อ้างว่าโฉนดออกทับที่ของตนโดยไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมายมิได้กำหนดหน้าที่ให้อธิบดีจำต้องกระทำ

 

 

สรุปว่า ศาลพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดิน ดำเนินการตามมาตรา 61 คือตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินเขากระโดง โดยให้การรถไฟฯ และคณะกรรมการตามมาตรา 61 ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดิน เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาฎีกา 2 ฉบับ และ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ศาลเคยชี้เอาไว้แล้ว ภายใน 15 วัน

 

ที่ดินเขากระโดง

สกลชัย ลิมป์สีสวรรค์ ทนายความ เป็นผู้ที่เคยยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ชุด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ตรวจสอบ เมื่อเดือน เม.ย. 2565 ให้ความเห็นกับคมชัดลึก ถึงไทม์ไลน์นับจากศาลปกครอง มีคำสั่งเพิ่มเติม ว่า ตามหลักของกฎหมาย การรถไฟฯ สามารถดำเนินการฟ้องเรียกคืนที่ดิน จากผู้เข้ามาใช้ประโยชน์ต่อศาลยุติธรรมได้ทันที โดยไม่ต้องไปฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครอง เพื่อขอเพิกถอนโฉนด ซึ่งเขามองว่า เป็นการยื้อเวลา เพื่อช่วยคนบางกลุ่มเท่านั้น เพราะการพิจารณาในคดีทางศาลปกครอง บางคดีใช้เวลานานหลักสิบปี

 

 

“หากดูจากคำสั่งศาลปกครอง ศาลใช้คำว่า นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ซึ่งตอนนี้คู่ความยังมีสิทธิอุทธรณ์ได้อยู่ และผมก็คิดว่าน่าจะมีการอุทธรณ์อย่างแน่นอน ดังนั้น ทั้งกรมที่ดินกับการรถไฟฯ จึงยังไม่น่าจะดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งสองฝ่ายคงดึงเวลาไปเรื่อยๆ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยเฉพาะน่าจะให้ผ่านพ้นการเลือกตั้งไปก่อน” นักกฎหมายให้ความเห็น

 

ทนายสกลชัย ยกตัวอย่างคดี “ที่ดินเขากระโดง” ที่การรถไฟฯ ฟ้องชาวบ้าน เพื่อให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ และขับไล่ออกจากพื้นที่ ซึ่งศาล มีคำสั่งให้ขับไล่-เพิกถอนเอกสารสิทธิ ถึงแม้จะมีการไปขอฎีกา แต่ศาลก็ไม่อนุญาต รวมทั้ง ที่ดินรถไฟมักกะสัน ที่ชาวบ้านอยู่มาเป็น 10 ปี ไม่มีเอกสารสิทธิ แต่การรถไฟฯ ฟ้องไล่ที่ได้ทันที แต่ทำไมที่ดินเขากระโดง กลับอ้างว่า ไม่อยากทำร้ายชาวบ้าน เพราะทั้ง รัฐมนตรี, ตระกูลดัง, นักการเมือง ก็ถือเป็นประชาชน

 

ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นบรรทัดฐานว่า ถ้าการรถไฟฯ จะฟ้องเพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิ-ขับไล่ออกจากพื้นที่ สามารถดำเนินการได้ทันที ไม่จำเป็นต้องยื่นต่อศาลปกครองกลาง แต่การรถไฟฯ รู้ดีว่า การดึงเวลาให้นานที่สุด คือการฟ้องศาลปกครอง

 

ที่ดินเขากระโดง

 

จุดจบ “ที่ดินเขากระโดง” เมื่อศาลมีคำสั่ง ตามความเห็นของนักกฎหมาย

 

  • เพิกถอนเอกสารสิทธิ
  • ไล่ที่-ยึดที่ดินคืนได้ทันที เพื่อกลับมาเป็นสมบัติของรัฐ
  • ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
  • นำพื้นที่ดังกล่าวออกจัดประโยชน์ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ

 

คำต่อคำโจทก์-จำเลย ที่ดินเขากระโดง

 

นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 หน้ากลมจะให้ผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน นั่งเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการฯจะเป็นผู้พิจารณาว่าเอกสารสิทธิที่ออกไปผิดพลาด ต้องมีการเพิกถอนหรือไม่ ซึ่งระยะเวลาการทำงานก็มีอยู่ต้องสอบให้เสร็จภายใน 60 วัน และขยายได้อีก 60 วันหากดำเนินการไม่เสร็จ และหากท้ายที่สุดแล้วมีการเพิกถอน ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิ กรมที่ดินก็ต้องมาพิจารณาว่า ดำเนินการออกโดยชอบหรือไม่ ต้องรับผิดทางวินัยอาญา และละเมิดหรือไม่

 

ส่วน การรถไฟฯ ระบุว่า หากศาลปกครองมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดว่า พื้นที่พิพาทดังกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟฯ แล้ว การรถไฟฯ ก็จะดำเนินการกับผู้ที่ถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ และจะนำพื้นที่ดังกล่าวออกจัดประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ ต่อไป

 

ซึ่งบทสรุปของที่ดินเขากระโดง นับจากนี้ ต้องรอดูท่าทีของกรมที่ดิน และ การรถไฟฯ ตามเงื่อนไขของศาลปกครองกลาง ยื้อ หรือ ไปต่อ