'เงินเฟ้อ' เม.ย. 66 เพิ่มขึ้น 2.67% ชะลอตัวในระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน
กระทรวงพาณิชย์ เปิดตัวเลข ดัชนีราคาผู้บริโภค ในเดือน เม.ย. 66 เพิ่มขึ้น 2.67% ชะลอตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ระบุ เศรษฐกิจฟื้นตัว จาก ท่องเที่ยว-บริการ อันดับ 1 การเมือง-การเลือกตั้ง อันดับ 2
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน เม.ย.2566 เพิ่มขึ้น 2.67% ชะลอตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือนและเป็นการชะลอตัวเป็นเดือนที่ 4 ของปี2566
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยรวมเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น 53.5 อยู่ในช่วงที่มีความเชื่อมั่น 5 เดือนต่อเนื่อง และสูงสุดในรอบ 52 เดือน
ส่วนอีก 3 เดือนข้างหน้าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 59.6 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18
โดยมีสาเหตุมาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจภายในประเทศ และเดือน เม.ย.ได้รับแรงสนับสนุนจากเทศกาลสงกรานต์ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล แม้ยังมีเรื่องของค่าไฟฟ้าที่มีราคาสูงขึ้น มีการใช้ไฟในปริมาณที่มาขึ้น ซึ่งเป็นความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค
44.27% การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศภาคการท่องเที่ยวและบริการยังเป็นอันดับ 1 แต่ที่ขยับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือการเมืองและการเลือกตั้ง ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งมีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (13.40%)
ด้านนายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวเสริมว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเป็นผลมาจากราคาสินค้า ในหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวลดลง รวมถึงฐานในเดือน เม.ย.ปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง
- หมวดอาหารเครื่องดื่ม สูงขึ้น 4.5% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผัก ผลไม้ ถั่วฝักยาว มะนาว กระเทียม จากสภาพภูมิอากาศและต้นทุนที่สูงขึ้นในช่วงก่อนหน้า ส่วนข้าวสาร ข้าวเหนียวลดลง ไข่ไก่ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนและผลผลิตน้อยในช่วงเดือน เม.ย. เนื้อหมูราคาลดลง
- หมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.39% ราคาสูงขึ้นทั้งค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสาร น้ำมันดีเซล และค่าการศึกษา ฯลฯ
โดยสรุปคือ รายการสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น มีทั้งสิ้น 334 รายการ รายการที่ราคาลดลง 58 รายการ และราคาเท่าเดิม 38 รายการ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำเป็นอันดับที่ 14 จาก 133 ประเทศ และต่ำสุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่มีการประกาศเงินเฟ้อ
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ค.2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชอตัวลงค่อนข้างมาก
- จาก ฐานราคาในเดือน พ.ค.2565 สูง ดังนั้นอัตราเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาจึงไม่สูงมากนัก
- ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อเงินเฟ้อทั้งทางตรงและทางอ้อม
- ราคาสินค้าและบริการบางรายการชะลอตัวต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ช่วยชะลอการสูงขึ้นของเงินเฟ้อ
แต่ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อ “สูงกว่า” ที่คาดไว้ คือ
- ราคาก๊าซหุงต้มที่ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากต้นทุนยังสูง
- ปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากการท่องเที่ยว สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่ออุปสงค์และราคาสินค้าและบริการ
อย่างไรก็ตามคาดการณ์เงินเฟ้อ ปี 2566 ทั้งปี ยังอยู่ในช่วงที่ประมาณการณ์ไว้ คือ 1.7-2.7%
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์