เช็กราคา ติด 'solar rooftop' ขอสินเชื่อ 6 แบงค์ ประหยัด ค่าไฟ 3.80 บาท
เมิน 'ค่าไฟแพง' เช็กราคา-ขั้นตอน ติด 'solar rooftop' โซลาร์ รูฟท็อป ของ PEA ขอสินเชื่อ 6 แบงค์ ประหยัด ค่าไฟ 3.80 บาท
“ค่าไฟแพง” ค่าเอฟที ที่ปรับขึ้น ทำให้หลายบ้าน รวมทั้งผู้ประกอบการหลายราย หันมาติด “โซล่าเซลล์” เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า เช่นเดียวกับ “Solar Rooftop” หรือ โซลาร์ รูฟท็อป ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน
โซลาร์ รูฟท็อป คืออะไร แตกต่างจาก “โซล่าเซลล์” หรือมีขั้นตอนในการติดตั้งอย่างไร ราคาแพงหรือไม่ คมชัดลึก รวบรวมรายละเอียด มาเป็นแนวทางสำหรับคนที่ต้องการติดตั้งระบบ โซลาร์ รูฟท็อป เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า
“Solar Rooftop” หรือ โซลาร์ รูฟท็อป คืออะไร
โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) คือการนำแผงโซล่าเซลล์ มาติดตั้งบนหลังคาบ้าน หรือที่พักอาศัยต่างๆ เพื่อรับพลังงานแสงอาทิตย์ แล้วเปลี่ยนมาเป็นพลังงานไฟฟ้า แล้วเอามาใช้ภายในบ้าน โดยหลักการทำงาน คือ เมื่อได้รับพลังงานแสงอาทิตย์มาแล้ว จะเปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) แล้วส่งไปยังเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า ที่เรียกว่า Inverter แล้วเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงให้เป็นกระแสสลับ (AC) เราก็จะได้พลังงานไฟฟ้าไปใช้งานในบ้านได้ ทั้งหลอดไฟ ตู้เย็น ทีวี พัดลม และถ้ายังมีกระแสไฟฟ้าเหลือ ก็สามารถนำไปขายให้กับหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนได้อีกด้วย
7 ขั้นตอน ติดตั้ง Solar Rooftop กับ PEA
- ติดต่อสาขา PEA ทั่วประเทศ คลิกที่นี่
- ทีมวิศวกรของ PEA ที่มีความเชี่ยวชาญ เข้าสำรวจและออกแบบ
- ชำระเงิน: ชำระเงินสด หรือ PEA ได้เพิ่มทางเลือกโดยร่วมกับพันธมิตร ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน ในการให้บริการสินเชื่อให้กับลูกค้า
- ขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: PEA ดำเนินการให้ทุกขั้นตอน
- ติดตั้งระบบ Solar และเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายของ PEA: ทีมงานมืออาชีพของ PEA ดูแลการติดตั้งให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
- เริ่มใช้งาน
- การบำรุงรักษาระบบ: PEA ดูแลแบบครบวงจรจนถึงบำรุงรักษา
ราคาค่าติดตั้ง Solar Rooftop
แบ่งราคาแพ็คเกจออกเป็น 2 กลุ่ม มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า แบ่งออกเป็น 3kW 5kW 10kW 15kW และ 20kW สามารถเลือกได้ตามกลุ่มแพคเกจ และระดับราคาตามที่ต้องการ โดยรายละเอียดของทั้ง 2 กลุ่มแพคเกจ มีดังนี้
- กลุ่ม Standard แพกเกจ เป็นผลิตภัณฑ์แผงและ Inverter ที่มีมาตรฐานตามที่ PEA กำหนด มีราคาเริ่มตั้งแต่ประมาณ 130,000 บาท ไปจนถึง 680,000 บาท
- กลุ่ม Premium แพกเกจ เป็นผลิตภัณฑ์แผงและ Inverter ที่มีมาตรฐานตามที่ PEA กำหนด และสามารถเพิ่มเติมอุปกรณ์ Power optimizer และ Micro Inverter ได้ โดยจะมีราคาเริ่มตั้งแต่ประมาณ 150,000 บาท ไปจนถึง 840,000 บาท
วิธีชำระเงิน
สามารถชำระได้ทั้งแบบเงินสด และบริการสินเชื่อ ผ่านสถาบันการเงินพันธมิตรของ PEA ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และธนาคารออมสิน
ประหยัดค่าไฟเท่าไร
การติดตั้ง “โซลาร์ รูฟท็อป” ต้องดูที่พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในแต่ละครัวเรือนเป็นหลัก กกพ. แนะนำว่า ต้องเปรียบเทียบกับปริมาณความต้องการและช่วงเวลาในการใช้ไฟฟ้าในบ้านของตนเองก่อน เช่น หากมีใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันมาก ระยะเวลาในการคุ้มทุนย่อมเร็วกว่า ถ้าผลิตไฟใช้เองได้ ก็จะไม่ต้องซื้อไฟฟ้า ก็จะทำให้ประหยัดค่าไฟประมาณ 3.80 บาทต่อหน่วย เหลือถึงขายไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10 ปี
ขั้นตอนการขายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานรัฐ
สำหรับประชาชนทั่วไปที่อยากขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้า สามารถเข้าร่วมโครงการ “โซลาร์ ภาคประชาชน” ปี 2566 โดยขายคืนให้การไฟฟ้าได้ในราคา 2.2 บาทต่อหน่วย ดังนี้
- บ้านพักอาศัย ที่ใช้ไฟแบบ 1 เฟส ติดตั้งโซล่าเซลล์ขายไฟ ได้สูงสุด 5 กิโลวัตต์ (kWp.) โดยดูจากขนาดรวมของแผงโซล่าเซลล์
- บ้านพักอาศัย ที่ใช้ไฟแบบ 3 เฟส ติดตั้งโซล่าเซลล์ขายไฟ ได้สูงสุด 10 กิโลวัตต์ (kWp.) โดยดูจากขนาดรวมของแผงโซล่าเซลล์