ข่าว

สศก. ดูนวัตกรรม 'อายิโนะโมะโต๊ะ' จัดการวัสดุเหลือตาม BCG Model  

สศก. ดูนวัตกรรม 'อายิโนะโมะโต๊ะ' จัดการวัสดุเหลือตาม BCG Model  

09 มิ.ย. 2566

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. ลงพื้นที่กำแพงเพชร ดูงาน อายิโนะโมะโต๊ะ ศึกษาแนวทางใช้นวัตกรรม  จัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้ประโยชน์สูงสุดตาม BCG Model 

นายฉันทานนท์  วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ด้านเทคนิคและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านเศรษฐกิจการเกษตร ตามนโยบาย BCG Model ณ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร 

 

โดยที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมเกษตร นับเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งรองรับผลผลิตทางการเกษตร ในการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า โดยบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด นับเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการใช้ผลผลิตทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง อ้อย มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมนำเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดำเนินธุรกิจโดยการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในระยะยาว สอดคล้อง BCG Model 

สศก. ดูนวัตกรรม \'อายิโนะโมะโต๊ะ\' จัดการวัสดุเหลือตาม BCG Model  

โดยมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ชีวมวลที่นำแกลบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก เพื่อผลิตพลังงานไอน้ำทดแทนการใช้น้ำมันเตา โดยจากเดิมมีอัตราการใช้น้ำมันเตาในการผลิตเชื้อเพลิงวันละ 500 ตัน ราคาลิตรละ 15 บาท มีปริมาณการใช้ต่อปี 58 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่ารวมต่อปี ประมาณ 900 ล้านบาท แต่หลังจากบริษัทได้นำแกลบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาทำให้มีต้นทุนลดลง 

 

โดยราคาแกลบราคาตันละ 2,000 บาท มีปริมาณการใช้ต่อปีประมาณ 170,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมต่อปี ประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะสามารถช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้มากถึงปีละ 600 ล้านบาท แล้วยังสามารถลดต้นทุนค่าพลังงานลงได้ประมาณร้อยละ 40 และยังช่วยลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อนได้ปีละประมาณ 190,000 ตัน  

สศก. ดูนวัตกรรม \'อายิโนะโมะโต๊ะ\' จัดการวัสดุเหลือตาม BCG Model  

ขณะที่การบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน เพื่อให้มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทางบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วม (Co-product) โดยมีการจัดตั้งบริษัท เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาและบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ร่วม ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตผงชูรสจากโรงงาน 

 

อาทิ น้ำ และสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากการหมัก เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยน้ำ รวมทั้งขี้เถ้าของแกลบที่ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงนำมาผสมกับปุ๋ยน้ำ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงดินอื่น ๆ ในรูปแบบปุ๋ยปั้นเม็ด สารเร่งราก และวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ ที่นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เกิดการสร้างรายได้สู่ท้องถิ่นอีกด้วย 

สศก. ดูนวัตกรรม \'อายิโนะโมะโต๊ะ\' จัดการวัสดุเหลือตาม BCG Model  

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบสำคัญ ของการผลิตในโรงงานประเทศไทย โดยการทำศึกษาวิจัยในพื้นที่ควบคู่ไปกับการริเริ่มโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง อาทิ การเลือกต้นพันธุ์ดีปลอดโรค การตรวจวิเคราะห์ดินและการแนะนำปุ๋ยให้เหมาะกับปริมาณความต้องการของพืช การให้บริการตรวจโรคใบด่างซึ่งเป็นโรคหลักที่ก่อให้เกิดความเสียหายในแปลง มันสำปะหลัง การส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ โดยทำเป็นแปลงทดลองเกษตรกร 1 คนต่อพื้นที่ 1 ไร่ 

 

ซึ่งขณะนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 500 ราย และทางบริษัทจะมีการขยายเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมให้ครบตามเป้าหมาย 2,800 ราย ในระยะต่อไป ซึ่งฐานข้อมูลที่รวบรวม จะช่วยให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ (ปริมาณแป้ง) ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน

 

ในการพัฒนา  และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการสร้างประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร เช่น การใช้ระบบ Artificial intelligence (AI) ในการตรวจสอบการติดโรคใบด่างของมันสำปะหลัง เป็นต้น 

สศก. ดูนวัตกรรม \'อายิโนะโมะโต๊ะ\' จัดการวัสดุเหลือตาม BCG Model  

และส่งเสริมการใช้เศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง เช่น ใบอ้อย และชิ้นไม้สับ ที่จะช่วยให้ลดการเผาในการทำการเกษตรที่จะก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศ สำหรับท่านที่สนใจรายละเอียดข้อมูล หรืองานวิจัยด้านเศรษฐกิจการเกษตรอื่นๆ สามารถสอบถามได้ที่ สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ส่วนเสริมสร้างนวัตกรรมด้านวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2940 7309 ในวันและเวลาราชการ