REAME รวมเหล่า 'ครีเอเตอร์' คนไทยเข้าไว้ด้วยกัน เพิ่มช่องทางต่อยอดสู่ NFT
REAME แพลตฟอร์มใหม่ ที่หวังเปลี่ยนประสบการณ์ของ 'นักอ่าน' ทั้งหลาย ด้วยการทำลายกำแพงระหว่างนักอ่าน และ 'ครีเอเตอร์' ผ่านช่องทางตลาด NFT ซึ่งจะทำให้นักอ่านสามารถสนับสนุนผลงานการสร้างสรรค์ของครีเอเตอร์ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลางใดๆ
ประเทศไทยกำลังจะมี แพลตฟอร์มใหม่ ที่เปิดให้ศิลปินหรือนักสร้างสรรค์ หรือที่เรียกันว่า "ครีเอเตอร์" มาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน และยังต่อยอดไปถึงตลาด NFT บน Web 3.0 ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ใหม่ที่เปิดโอกาสและรวบรวมบรรดา ครีเอเตอร์คนไทย เข้ามาไว้ด้วยกัน ภายใต้ชื่อ REAME (อ่านว่า รีม) เพื่อให้ครีเอเตอร์มีผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล ผ่าน nft tool และ feature ต่างๆ
ภายใต้งานเสวนาหัวข้อ The Next Digital Hub (ประเทศไทยพร้อมเป็นดิจิทัลฮับหรือไม่) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา ณกฤต มานะศิลป์ CEO REAME กล่าวว่า REAME คือ แพลตฟอร์มที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ของนักอ่านทั้งหลาย โดยที่ REAME จะทำลายกำแพงระหว่างนักอ่าน และครีเอเตอร์ผ่านทาง NFT (Non-Fungible Token) ที่จะทำให้นักอ่านสามารถสนับสนุนผลงานของครีเอเตอร์ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลางใดๆ
ปัจจุบัน REAME ได้เปิดให้ใช้งานได้แล้ว และมีผู้ใช้มากกว่า 1,000 ราย แบ่งเป็นผู้ใช้งานในไทย 65% และสหรัฐอเมริกา 35% มีเป้าหมายขยายผู้ใช้ให้มากถึง 1 แสนราย ภายในปีนี้ ซึ่งระบบนิเวศของ REAME ทำงานทั้งบน Web 2.0 ที่จะเป็นตัวกลางระหว่างครีเอเตอร์กับนักอ่าน และมี Wed 3.0 ที่เป็นตัวเชื่อมโลกบล็อกเชนในการช่วยสร้าง NFT ของตัวเอง นอกจากนี้ ยังช่วยให้นักอ่านสามารถสนับสนุน ครีเอเตอร์ ในมิติต่างๆ ได้โดยตรง ซึ่งในอนาคต REAME ได้วางแผนจะสร้างฟีเจอร์เพื่อช่วยสนับสนุนให้ได้อย่างครอบคลุม
ยกตัวอย่างเช่น Launchpad ที่จะช่วยให้การมิ้นต์ผลงาน NFT (การสร้าง NFT หรือการนำสิ่งของที่เรามีอยู่ทำให้เป็นไฟล์ดิจิทัลและนำมาแปลงให้อยู่ในรูปแบบของ NFT และทำการบันทึกลงในบล็อกเชน) ได้ปริมาณตามที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้การทำงานของ ครีเอเตอร์สะดวกมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมครีเอเตอร์ให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน REAME นั้นมีผลงานของนักเขียน และนักวาดคนไทยภายในแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เช่น Code Sekai, Fallout Fairytail, Higanbana Society หรือ Sybiro อีกทั้งยังมีโปรเจกต์ใหญ่ล่าสุดอย่างเช่น Project Clone ที่คาดว่าจะมีเนื้อเรื่องกว่า 40 ตอน ที่มาพร้อมๆ กับผลงาน NFT คอยสนับสนุนอีกด้วย
สำหรับโจทย์หลักของประโยคที่ว่า ประเทศไทยพร้อมเป็นดิจิทัลฮับหรือไม่ ณกฤต ระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชน และคริปโตเคอเรนซีกันอย่างแพร่หลาย โดยมีกฏหมายดิจิทัลที่กำกับดูแลโดย ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสามารถทำงานได้ง่าย และสะดวกมากขึ้น
อนึ่ง NFT หรือ Non-Fungible Token สิ่งของที่มีความแตกต่างเฉพาะตัวไม่สามารถทดแทนกันได้ หรือไม่ซ้ำใคร ไม่สามารถแบ่งแยก หรือซื้อเป็นหน่วยย่อยได้ NFT จึงเปรียบเสมือนเอกสารยืนยันการเป็นเจ้าของรูปแบบหนึ่งที่ยืนยันการมีอยู่บนพื้นฐานเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ระบบทำงานไร้ศูนย์ ไม่มีใครมาคอยกำกับ
นั่นก็คือการนำสิ่งที่มีมูลค่าในตัวหรือสร้างให้มีมูลค่าต่างๆ มาเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของโทเคน เช่น มีผลงานศิลปะอยากจะนำไปขาย อาจจะต้องเสียค่าเดินทางและค่าขนส่ง แต่ถ้าเปลี่ยนผลงานศิลปะให้เป็น NFT ที่สามารถขายให้คนทั่วโลกได้ แถมยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลงาน หรือการออกแบบสินทรัพย์ให้อยู่ในลักษณะสินค้าดิจิทัลที่ไม่สามารถจับต้องได้ ให้กลายเป็นสิ่งสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงนั่นเอง