ข่าว

อพท. กางแผนบูม แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น 2.6 แสนล้าน

อพท. กางแผนบูม แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น 2.6 แสนล้าน

15 มิ.ย. 2566

อพท. เปิดแผนพัฒนา แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ระยะ 5 ปี ผ่าน 249 โครงการ ใน 6 พื้นที่พิเศษ ช่วยเพิ่มจำนวน นักท่องเที่ยว ปี 66 เป็น 23.91 ล้านคน สร้างรายได้ 182,130 ล้านบาท สิ้นสุดแผนตั้งเป้ามีผู้เยี่ยมเยือนสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 31.27 ล้านคน กระจายได้สู่ท้องถิ่น เพิ่ม 262,393 ล้านบาท

 

น.อ.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เปิดแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระยะ 5 ปี  (2566 - 2570) โดย แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ครอบคลุม 6 พื้นที่ของ อพท. เริ่มตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ภายใต้ 249 โครงการที่จะสร้าง รายได้การท่องเที่ยวและ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น 2.6 แสนล้านบาท

 

น.อ.อธิคุณ คงมี ผอ.องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)

 

 

แผนดังกล่าวนี้ อพท. จะทำงานกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่เน้นการบริหารเชิงคุณภาพและเกิด แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมนำความรู้ด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่มาใช้ให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดและขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

 

ทั้งนี้ จะมีการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นและเกิดการพัฒนา แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 

 

บ้านซาวหลวง จ.น่าน

 

ลุย 249 โครงการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย  

สำหรับแผนการดำเนินงานภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ 249 โครงการ ประกอบด้วย 1) ยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามวัตถุประสงค์การประกาศพื้นที่พิเศษ 52 โครงการ 2) ยุทธศาสตร์การสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว 52 โครงการ 

 

3) ยุทธศาสตร์การสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี 38 โครงการ 4) ยุทธศาสตร์การสนบัสนุนและส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวสีเขียว 33 โครงการ 5) ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ และสร้างความร่วมมือเพื่อการสร้าง แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 31 โครงการ 

 

ป้อมหมายเลข 9 อ.สิงหนคร จ.สงขลา สร้างโดยทหารรับจ้างชาววิลันดา

 

และ 6) ยุทธศาสตร์การยกระดับขีดความสามารถของห่วงโซ่การท่องเที่ยวและกลไกการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 43 โครงการ ซึ่งดำเนินงานใน 6 พื้นที่พิเศษ ได้แก่ 1) พื้นที่พิเศษเพื่อสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้าง และพื้นที่เชื่อมโยง 2) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง 3) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร 4) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย 5) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน และ 6) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทองและพื้นที่เชื่อมโยง 

 

มรดกโลกสุโขทัย

 

เป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ภายใต้แผนยุทธศาตร์ 5 ปี คือ การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และผู้มาเยือน รวมถึงเกิดรายได้ขึ้นในพื้นที่พิเศษ คาดว่าในปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมเยือน ทั้งสิ้น 23.91 ล้านคน สามารถสร้างรายได้การท่องเที่ยว 182,130 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายในปี 2570 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดแผนจะมีนักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมเยือนในพื้นที่พิเศษฯ สะสมเพิ่มขึ้นเป็น 31.27 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.78 จากปี 2566 ในขณะที่รายได้การท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 262,393 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.07 จากปี 2566 

 

สร้างแหล่งท่องเที่ยวผ่านเกณฑ์ระดับสากล

การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษฯ อพท. จะนำหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลมาใช้เพื่อยกระดับให้เกิดความเชื่อมั่นและเพิ่มศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย 

 

  1. การใช้เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) โดยมีเป้าหมายให้แหล่งท่องเที่ยวขึ้นสู่แหล่งท่องเที่ยวเป้าหมาย TOP100 ของโลก 
  2. การพัฒนาเมืองท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษไปสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UCCN) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านการท่องเที่ยว 
  3. การใช้มาตรฐานการจัดการ แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน (STMS) ที่ อพท. พัฒนาขึ้น ได้รับการรับรองในระดับสากล
  4. เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) รวมถึงเครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism by DASTA) ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน สร้างสมดุลทางสังคมระหว่างประชาชนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยว