ผู้ถือหุ้นส่งหลักฐานเพิ่มให้ 'ดีเอสไอ' สอบปม 'ทุจริต' เจ้าหน้าที่ ปตท.
ผู้ถือหุ้นอ้างได้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมให้ 'ดีเอสไอ' และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสอบสวนปม 'ทุจริต' การสั่งซื้อน้ำปาล์มดิบใน PTTOR และ GGC
นายสยามราช ผ่องสกุล ผู้มีส่วนได้เสีย และเป็นผู้ถือหุ้นของ ปตท., GGC เปิดเผยว่า ได้รับเอกสารสำคัญจากเครือข่ายกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. เกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลจนอาจมีการทุจริตเกี่ยวกับการจัดหาและสั่งซื้อน้ำปาล์มดิบ และได้ส่งเอกสารหลักฐานสำคัญเหล่านั้นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปดำเนินการต่อ
หน่วยงานที่ร่วมสอบสวนหาข้อเท็จจริงจากการร้องเรียนของนายสยามราช ประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) และคณะกรรมการ ปตท.
จากหลักฐานตามที่นายสยามราชระบุนั้น อ้างว่าปรากฏความเชื่อมโยงผู้บริหารบางคนของบริษัท โกลบอล กรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) กับบริษัทเอกชน อย่างน้อย 6 เรื่อง เช่น ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงและความเสียหายที่เกิดขึ้นของบริษัท บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด ถึงประธานกรรมการบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
นอกจากนั้น มีเอกสารและหลักฐานจากการจัดหาและสั่งซื้อน้ำปาล์มดิบ (CPO), มีการบริหารงานที่ขาดความเป็นมืออาชีพ, การดำเนินการใช้วิธีสั่งซื้อแบบ Forward ทำให้เกิดความเสียหาย, การว่าจ้างบุคคลภายนอกให้กลั่น CPKO เป็น RBDPKO ในราคาที่สูงเกินความเป็นจริงทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย และการจงใจขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกและเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ดีเอสไอจะสอบสวนในเรื่องนี้ทางด้านนายสยามราชได้ทำหนังสือถึงประธานบอร์ด ปตท. และประธานบอร์ด PTTOR ให้ตั้งกรรมการตรวจสอบและขอให้ความสะดวกและให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ, ก.ล.ต. และ/หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในการสืบสวน/สอบสวนผู้กระทำผิด ห้ามมิให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเข้าไปเกี่ยวข้องกับพยานหลักฐาน
รวมทั้งห้ามเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในเรื่องที่ถูกกล่าวหา และดำเนินคดีกับผู้บริหาร PTTOR และ GGC ร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งมีการยื่นเรื่องร้องเรียนไปเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566
หลังจากนั้นเมื่อวันที่19 มิ.ย. 2566 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ ได้เข้าพบนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อสืบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นกรณีมีเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของกลุ่มบริษัท ปตท.ถูกกล่าวหาใน 3 เรื่องใหญ่ ประกอบด้วย
1. มีการแทรกแซงครอบงำองค์กรระหว่าง PTTOR และ GGC เข้าข่ายการฮั้วหรือสมยอมราคากันหรือไม่ 2. อดีตผู้บริหาร TOL และ/ผู้บริหาร GGC ได้ร่วมกับบริษัทเอกชนในการซื้อสินค้าในราคาสูงผิดปกติ ทำให้ขาดทุนหลายร้อยล้านบาท และ 3. ปตท. PTT TRADING และ/GGC จ่ายเงินให้กับคู่ค้า โดยที่ไม่มีการส่งสินค้า ซึ่งอาจเข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ใดผู้หนึ่งหรือไม่ และอาจนำไปสู่พฤติการณ์เข้าข่ายลักษณะฟอกเงินหรือไม่