จับตา กยท. พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ก้าวเป็นผู้นำยางพาราโลก
การยางแห่งประเทศไทย พลิกวิกฤตเป็นโอกาสก้าวเป็นผู้นำยางพาราโลก ด้วยมาตรการแสดงแหล่งกำเนิดผลผลิตและการตรวจสอบย้อนกลับ
มาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต และสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพื่อแสดงว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์มีต้นกำเนิดวัตถุดิบทีี่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ถูกนำมาใช้เป็นข้อกำหนดในการซื้อขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ตามกระแสโลกในปัจจุบัน
ที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยางพารา พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยก็เช่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ จะมีเฉพาะอียูและสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่นำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน มาเป็นเงื่อนไขนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยได้บัญญัติเป็นกฎหมายว่า ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา จะต้องมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ไม่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าหลังปี 2562 (ค.ศ. 2019)
รวมทั้งมีการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน โดยจะต้องแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ได้
ก่อนหน้านี้ข้อบัญญัติดังกล่าว อาจจะกระทบได้ต่อยางพาราของไทยได้ไม่มากนักเพราะตลาดส่งออกยางพาราของไทย ตลาดใหญ่จะเป็นประเทศจีน โดยในปัจจุบันประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราจากประเทศไทยมากกว่า 70% ของปริมาณการส่งออก ที่เหลือ 30% เป็นตลาดสหรัฐอเมริกา อียู ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ
และจีนยังนำเข้าไม้ยางพาราอีกกว่า 90% ของปริมาณการส่งออก เหลืออีก 10% เป็นตลาดสหรัฐอเมริกา อียู ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ภายใต้การนำของ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. ได้คาดการณ์ว่า ในอนาคตอีกไม่นานประเทศผู้นำเข้ายางพาราจากประเทศไทยจะนำกฎระเบียบดังกล่าวมาบังคับใช้เช่นกัน เพราะกระแสในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขณะนี้ได้กระจายไปทั่วโลกแล้ว โดยเฉพาะประเทศจีน ตลาดยางพารารายใหญ่ของไทย
ล่าสุดจีนกำลังจะนำมาตรการตรวจสอบย้อนกลับมาบังคับใช้เช่นกัน เพราะจีนจะต้องส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ ไปยังตลาดอียู และสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการตรวจสอบย้อนกลับ และยิ่งกว่านั้นยังได้นำเรื่องมาตรฐานสินค้ามาใช้บังคับอีกด้วย
แต่...โชคดีที่ กยท. ได้เตรียมรับมือกระแสในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกแล้ว และที่สำคัญมาตรการดังกล่าวจะทกให้ยางพาราของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก รวมทั้งยังเป็นข้อได้เปรียบคู่แข่งอีกด้วย
"ขณะนี้ กยท.จะเร่งดำเนิน มาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิตเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากยางพาราได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยนำเอา GIS (Geographic Information System) หรือระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นระบบการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยจะแสดงในรูปของภาพแผนที่ มาใช้ในการแสดงแหล่งที่มาของผลผลิตว่า เป็นยางพารามาจากแหล่งกำเนิดใด อยู่ที่ไหน ควบคู่ไปกับระบบแอปพลิเคชั่น RUBBERWAY ที่ใช้ในการตรวจสอบการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับสังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" ผู้ว่าการ กยท.กล่าว
ล่าสุด กยท.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านธุรกิจยางพาราและไม้ยางพารากับ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด (C.C.I.C.) และสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านเศรษฐกิจและการค้าอาเซียน (SMEs ASEAN) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและไม้ยางพาราไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานของจีน ที่ได้ให้ความสำคัญกับระบบมาตรฐานและการตรวจรับรองก่อนกระบวนการผลิต
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ทั้ง 3 ฝ่ายจะบูรณาการร่วมกับขับเคลื่อน 4 โครงการหลัก โดย 1 ใน 4 โครงการหลักคือ โครงการเพื่อการรับรองกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์จากยางพาราและไม้ยางพารา เพื่อเพิ่มความนิยมและความเชื่อมั่นของผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพาราจากประเทศไทย ผ่านการใช้ "ฉลาก QR ร่วม” ซึ่งเป็นการนำสัญลักษณ์ของ 3 องค์กรมาใช้ประกอบในสัญลักษณ์ เพื่อสื่อถึงการบูรณาการร่วมกันให้เป็นหนึ่งเดียวและเป็นเอกภาพ มีเป้าหมายเดียวกัน ที่จะพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพารา สร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศผู้ใช้ยางในประชาคมโลก
ส่วนอีก 3 โครงการหลัก ก็ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจ การยางพาราทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการเพื่อรับรองระบบการจัดการ เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาทางธุรกิจให้เป็นไปตามกฎและข้อกำหนดของการรับรองระบบการจัดการในประเทศจีน .โครงการเพื่อตรวจสอบสินค้าก่อนการส่งออก เพื่อรับประกันความปลอดภัยในการเดินทางและยืนยันคุณภาพสินค้า และ .โครงการเพื่อการตรวจสอบซัพพลายเออร์ โดยตรวจสอบและช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในประเทศไทย ให้ได้รับใบรับรองซัพพลายเออร์อย่างถูกต้อง
บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด (C.C.I.C.) เป็นองค์กรของรัฐบาลจีนที่ดำเนินงานในเรื่องการตรวจสอบ ประเมิน และให้การรับรองสินค้าที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศจีนและระดับสากล
ซึ่ง ทางC.C.I.C นอกจากจะให้ความรู้และฝึกอบรมการรับรองระบบให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ได้เข้าใจถึงกฎ ข้อกำหนด และระบบการจัดการในประเทศจีนแล้ว C.C.I.C ยังจะสร้างแพลทฟอร์มสำหรับโครงการรับรองการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา และให้บริการรับรองการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาสำหรับผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทย รวมถึงจัดทำแผนสำหรับกระบวนการรับรองการตรวจสอบย้อนกลับสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้าอีกด้วย
ส่วนสมาคม SMEs ASEAN จะดำเนินการประสานงานในเบื้องต้นโดยเลือกกลุ่มตลาดเป้าหมายในประเทศจีน แนะนำผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพาราของไทย พร้อมตรวจสอบพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบกิจการในจีนที่มีความสนใจซื้อสินค้าไทย ส่งเสริมการลงทุนทางการค้าและระบบการค้าขายระหว่างประเทศเพื่อสร้างมาตรฐานระยะยาว รวมถึงพัฒนาโมเดลระบบตลาดให้เกิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กยท.ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องเพื่อสนับสนุนมาตรการตรวจสอบย้อนกลับมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดทำข้อมูลแปลงปลูกยางของเกษตรกร การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกร ข้อมูลการรับซื้อยางของสหกรณ์การเกษตร ข้อมูลการซื้อขายยางพาราของตลาดกลางยางพารา ของ กยท. ตลอดจนข้อมูลแปรรูปยางของบริษัทเอกชนผู้รับซื้อยาง
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของยางและผลิตภัณฑ์ยางได้ว่ามีแหล่งกำเนิดหรือแหล่งที่มาของผลผลิตยางที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต
นอกจากนี้ กยท.ยังได้ดำเนินมาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต ควบคู่กับการพัฒนาปรับปรุงสวนยางพาราของไทย ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนหรือ มอก. 14061 ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การปลูก การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจัดการเพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ของสวนป่าไม้เศรษฐกิจในระยะยาว การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศอีกด้วย โดยมาตรฐานนี้กำหนดให้มีการป้องกันสวนป่าจากการทำผิดกฎหมายต่างๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น Forest Stewardship Council (FSC™) หรือ Program for the Endorsement of Forest Certification (PEFC) โดยในระยะแรกตั้งเป้าไว้ภายในปี 2571 สวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. อย่างน้อย 50% หรือประมาณ 10 ล้านไร่ จะต้องผ่านมาตรฐาน มอก.14061 และสวนยางพาราของไทยทั้งหมดจะเป็นสวนยางที่ได้มาตรฐาน ภายใน 20 ปี
ผู้ว่าการฯ ณกรณ์ ยืนยันว่า จากการดำเนินมาตรการต่างๆของ กยท. จะทำให้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราของไทยสามารถแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต และการตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด ภายใน 2 ปี ซึ่งมาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิตดังกล่าว จะเป็นโอกาสทองของยางพาราไทย ในการพัฒนาระบบการจัดการสวนยางที่ถูกต้องตามหลักสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เนื่องจากประเทศคู่แข่งในการส่งออกยางพาราของไทย ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา) ยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว แต่ประเทศไทยมี กยท. ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ไทยจึงได้เปรียบคู่แข่งในการขยายตลาด ดังนั้นราคายางของไทยในอนาคตจะมีเสถียรภาพ มากขึ้นเพราะประเทศผู้รับซื้อยางจะต้องหันมาซื้อยางจากประเทศไทยเพิิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากขณะนี้ไทยเป็นประเทศผู้ที่ส่งออกยางเพียงรายเดียวที่สามารถแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต และตรวจสอบย้อนกลับได้
กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาาที่ยั่งยืน โดยใช้มาตรการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพาราว่าจะต้องมาจากสวนยางพาราที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ไม่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าหลังจากปี 2562 (ค.ศ. 2019) รวมทั้งมีการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืนดังกล่าวข้างต้น จึงผลดีต่อประเทศไทย และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เพราะหากพิจารณาถึงความพร้อมแล้ว แม้จะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการบ้าง แต่ประเทศไทยมีความพร้อมมากที่สุด เพราะขณะนี้ กยท.ได้ดำเนินมาตรการต่างๆรองรับไปแล้วพอสมควรแล้ว จึงมีศักยภาพเหนือคู่แข่ง และจะโอกาสทองของยางพาราไทยในการขยายตลาด พร้อมกับยกระดับขึ้นสู่ตลาดยางพรีเมี่ยมสามารถขายยางได้ในราคาที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน
ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร กยท. ที่มองเห็นโอกาส และอนาคตของยางพาราไทยควรจะไปในทิศทางใด จึงได้มีการวางแผนรับมือไว้ ในขณะที่ประเทศคู่แข่งยังไม่มีองค์กร หรือมาตรการใดๆออกมารองรับที่เป็นรูปธรรม ตรงข้ามกับประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ยางพาราจากประเทศไทยยังเป็นยางพาราที่มาจากสวนยางที่มีคุณภาพได้มาตร ฐานสากลอีกด้วย ดังนั้น มาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ จะสร้างโอกาส สร้างเสถียภาพความมั่นคง และสร้างอนาคตที่สดใสให้กับยางพาราได้อย่างแน่นอน