อาคารจอดแล้วจร รถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่ฟรีอีกต่อไป เริ่มเก็บค่าจอด 3 ก.ค. 66
รถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้ฤกษ์ 3ก.ค. 66 เก็บค่าบริการอาคารจอดแล้วจร สถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต รถจักรยานยนต์-รถยนต์ เก็บค่าจอดกี่บาทเช็กอัตราได้ที่นี่
อาคารจอดแล้วจร โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต สถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต หมดช่วงเวลาของการเปิดให้บริการฟรีแล้ว โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีกำหนดการในการเก็บค่าบริการวันที่ 3 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ได้แจ้งว่า หลังจากเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการอาคารจอดแล้วจร สถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต มาตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยไม่คิดค่าบริการ
ซึ่งในระหว่างนี้ รฟม. ได้พัฒนาโดยนำเทคโนโลยีระบบจอดรถอัจฉริยะ (Smart Parking) มาทดลองให้บริการเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว พร้อมทั้งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
จนปัจจุบัน อาคารจอดรถทั้ง 2 แห่ง มีความพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับให้บริการแก่ประชาชน ในการนี้ รฟม. จะเริ่มจัดเก็บค่าบริการจอดรถ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป โดยมีอัตราค่าบริการ ดังนี้
1. ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า คิดอัตราค่าบริการจอดรถยนต์ 2 ชั่วโมง 10 บาท และอัตราค่าบริการจอดรถจักรยานยนต์ 4 ชั่วโมง 5 บาท โดยผู้ใช้บริการจะต้องนำบัตรจอดรถไปบันทึกส่วนลดภายในเขตชำระเงิน (Paid Area) ของสถานีรถไฟฟ้าที่ใช้บริการจอดรถเท่านั้น จึงจะได้รับสิทธิ์ชำระค่าบริการจอดรถในอัตราดังกล่าว
2. ผู้ไม่ใช้บริการรถไฟฟ้า คิดอัตราค่าบริการจอดรถยนต์ ชั่วโมงละ 20 บาท และอัตราค่าบริการจอดรถ จักรยานยนต์ ชั่วโมงละ 10 บาท
3. ผู้ใช้บริการจอดรถรายเดือน (ผ่านแอปพลิเคชัน MRTA Parking) คิดอัตราค่าบริการจอดรถยนต์ เดือนละ 1,000 บาท และอัตราค่าบริการจอดรถจักรยานยนต์ เดือนละ 500 บาท ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการจอดรถรายเดือนจะไม่ได้รับการประกันพื้นที่ว่างในการนำรถเข้าจอด เพื่อให้ผู้ใช้บริการทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ อาคารจอดรถทั้ง 2 แห่ง เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00 - 01.00 น. ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถนำรถมาจอดและเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอาคารจอดแล้วจร รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีแยก คปอ. ตั้งอยู่บริเวณถนนพหลโยธิน (ฝั่งขาออก) กิโลเมตรที่ 25 มีรูปแบบเป็นลานจอดรถกลางแจ้งและอาคารจอดรถ 3 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ทั้งหมด 1,042 คัน
ส่วนอาคารจอดแล้วจรสถานีคูคต ตั้งอยู่บริเวณถนนลำลูกกา (ฝั่งขาเข้า) ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรคูคต มีรูปแบบเป็นอาคารจอดรถ 6 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ 713 คัน
ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) รองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการทุกประเภท เช่น ลิฟต์โดยสาร ห้องน้ำ ที่จอดรถผู้พิการ ทางเดินเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า รวมถึงสะพานรถยนต์เชื่อมทางเข้าอาคารจอดรถเพื่อลดปัญหาการจราจรบริเวณจุดกลับรถ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ รฟม.ได้นำเทคโนโลยีระบบจอดรถอัจฉริยะ หรือ Smart Parking มาเริ่มทดลองให้บริการพื้นที่จอดรถในโครงการนี้เป็นที่แรก เช่น เครื่องจำหน่าย บัตรจอดรถอัตโนมัติ ระบบแนะนำช่องจอดรถว่าง ตู้ชำระค่าบริการอัตโนมัติซึ่งสามารถชำระค่าบริการในรูปแบบเงินสดและคิวอาร์โค้ด (QR Code) ระบบจำเลขทะเบียนรถภายในอาคารจอดรถเพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถค้นหาตำแหน่งที่จอดรถได้ง่าย
รวมถึงมีการพัฒนา Application บน Smart Phone เพื่อให้บริการจองที่จอดรถล่วงหน้า และการสมัครสมาชิกและต่ออายุสำหรับผู้ใช้บริการที่จอดรถรายเดือน ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง
นอกจากนี้ รฟม.ได้จัดเตรียมพื้นที่ศูนย์อำนวยความสะดวกเพื่อการเชื่อมต่อการเดินทาง (Intermodal Transportation Facilities : ITF) ไว้บริเวณอาคารจอดแล้วจร ทั้ง 2 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้ากับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น จุดจอดรถโดยสารประจำทาง ขสมก. จุดจอดรถโดยสารสาธารณะ ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งมวลชนให้เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน สามารถรองรับการเดินทางทุกรูปแบบ อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน
ที่มาข้อมูล : ทำเนียบรัฐบาล