ข่าว

ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการชลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการชลอตัวของเศรษฐกิจโลก

05 ก.ค. 2566

ทิศทางราคาน้ำมันดิบในไตรมาส2 นี้ก็ยังค่อนข้าง ทรงตัวจากช่วงไตรมาส 1 โดยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 (เม.ย.-พ.ค.) ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยอยู่ที่ 79.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สืบเนื่องมาจากภาวะอุปทานในตลาดที่ตึงตัวมากขึ้น

หลังการประชุมของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 66 มีมติคงนโยบายลดการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566 


นอกจากนั้น ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, คูเวต, โอมาน, อิรัก, แอลจีเรีย, คาซัคสถาน และกาบอง อาสาลดการผลิตโดยสมัครใจเพิ่มเติมรวม 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ธ.ค. 66 


 

และรัสเซียขยายแผนลดการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากในเดือน มี.ค.-มิ.ย. 66 ต่อออกไปจนถึงเดือน ธ.ค. 66 ทำให้ปริมาณลดการผลิตรวมในเดือน พ.ค.- ธ.ค. 66 อยู่ที่ 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน


แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันก็ยังถูกกดดัน จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากธนาคารกลางหลายแห่ง นำโดยธนาคารกลางของสหรัฐ (FED) เดินหน้าปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลพ่วงจากการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงนี้เอง ทำให้เกิดวิกฤตขึ้นกับธนาคารขนาดกลางขนาดเล็กหลายแห่งของสหรัฐ มีปัญหาจากสภาพคล่อง จนสุดท้ายไปต่อไม่ไหวก็ต้อง ปิดตัวลงไป

 

 


นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากเรื่องการเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ แต่สุดท้ายแล้วก็สามารถตกลงกันได้


ส่วนในช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดว่าอุปสงค์น้ำมันโลกยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยทางสำนักงานพลังงานสากล International Energy Administration (IEA) คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 70,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อนเมื่อเดือน เม.ย. 66)

โดยได้รับอานิสงส์ หลังจีนยุตินโยบายการควบคุม COVID-19 ที่เข้มงวด แล้วกลับมาเปิดประเทศเต็มตัวตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 เป็นต้นมา ส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น


โดยหน่วยงานศุลกากรของจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้น 17.4% จากเดือนก่อน อยู่ที่ 12.1ล้านบาร์เรลต่อวัน  


นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนอื่นๆ อีก ทั้งการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในสหรัฐ ที่มีการเดินทางมากขึ้น ซึ่งปีนี้บรรยากาศคึกคัก 


สำหรับช่วงฤดูท่องเที่ยวของสหรัฐฯ เริ่มต้นในวัน Memorial Day คือวันที่ 29 พ.ค. 66 จนถึงวันแรงงานของสหรัฐฯ วันที่ 4 ก.ย. 66 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น 


โดย สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ Energy Information Administration (EIA) คาดว่าการเดินทางท่องเที่ยวของสหรัฐฯ ในปี 2566 จะคึกคักกว่าปีก่อน หลังราคาขายปลีก Gasoline ปีนี้ปรับตัวลงจากปีก่อน 20% เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 3.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อแกลลอน (ประมาณ 31 บาทต่อลิตร) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อแกลลอน (ประมาณ 39 บาทต่อลิตร)


นอกจากนี้ ในช่วงตั้งแต่  1 มิ.ย.- 30 พ.ย. 66 บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกจะเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม (Atlantic Hurricane Season) ซึ่งปีนี้ทาง องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA)  หรือ โนอา คาดว่า จะมีพายุ 12-17 ลูก ซึ่งจะยกระดับเป็นพายุเฮอริเคน 5-9 ลูก และทวีความรุนแรงเป็นพายุเฮอริเคนที่มีความรุนแรงสูง 1-4 ลูก (ความเร็วลม 178 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันในบริเวณอ่าวเม็กชิโก (Gulf of Mexico) อาจชะงัก


ส่วนในฝั่งอุปทานดูแล้วยังตึงตัว หลังล่าสุดทาง กลุ่ม OPEC+ ได้ตัดสินใจที่จะขยายเวลาในการลดการผลิตน้ำมันออกไปอีก 1 ปีเต็ม


โดยซาอุดีอาระเบียพี่ใหญ่ของกลุ่มโอเปกจะลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจเพิ่มอีก  1 ล้านบาร์เรลต่อวัน


ในการประชุมกลุ่ม OPEC+ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 66 มีมติขยายเวลาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2567 จากเดิมจะสิ้นสุดปีนี้ 


และยังไม่หมดเท่านั้น เพราะตลอดทั้งปี 2567 จะลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ (Baseline Production) ลงอีก 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 40.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

ส่วนทางซาอุดีอาระเบียประกาศลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจเพิ่มอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. 66 เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันที่ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

 

ซาอุดีอาระเบียจะติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด และอาจจะขยายเวลาออกไปอีกก็ได้ หากดูแล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป และจีนจะเติบโตช้ากว่าคาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2566


ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศของหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คาดว่าราคาจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 


โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในครึ่งหลังของปี 2566 จะแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 75 - 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากมุมมองเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว 


โดยธนาคารกลางโลกปรับคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (GDP) ปี 2566 อยู่ที่ระดับ +2.1% เทียบจากปีก่อน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ในเดือน ม.ค. 66 ซึ่งเคยคาดไว้ที่ระดับ +1.6% เทียบจากปีก่อน) 


และตลาดน้ำมันยังจะมีแรงหนุนของอุปสงค์น้ำมันจีนที่ฟื้นตัว รวมถึงอุปทานที่จะตึงตัวมากขึ้นจากนโยบายลดการผลิตของกลุ่ม OPEC+ 


ส่วนปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบที่ต้องติดตาม อาทิ กลุ่ม OPEC+ จะสามารถลดอุปทานน้ำมันในตลาดได้ตามนโยบายการผลิตที่ประกาศออกมาหรือไม่


รวมถึงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค อาทิ สหรัฐฯ และ ยุโรป ที่อาจจะชะลอตัว หรือเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง ส่งผลให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น