ผู้ว่า กยท. มั่นใจ ยางพาราไทย ฉลุย ไร้ผลกระทบ สหภาพยุโรป บังคับใช้ EUDR
ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ให้ความมั่นใจ การที่ "สหภาพยุโรป" บังคับใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation : "EUDR" มุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบความเป็นมาของสินค้ายางพาราจะไม่กระทบถึงไทย เพราะ "กยท." เตรียมตัวรับมือ ผ่าน national platform
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดผยว่า การที่
"สหภาพยุโรป" เตรียมบังคับใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) โดยสาระสำคัญของ EUDR คือ กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า การนำเข้ายางและผลิต ภัณฑ์จากยางจะต้องมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ , พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมถึงการจัดการสวนยางพารา ที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม มั่นใจว่า กฎหมาย EUDR ดังกล่าวจะไม่เป็นอุปสรรคต่อยางพาราไทยอย่างแน่นอน
ในทางกลับกันมองว่า EUDR เป็นโอกาสที่ดีช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระดับโลก เนื่องจากที่ผ่านมา "กยท." ได้กำหนดให้การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็นนโยบายสำคัญและได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว กยท. จึงมีความพร้อมในการจัดการระบบข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยาง กลุ่มสหกรณ์ ตลอดจนผู้ประกอบการที่ซื้อขายยางพาราผ่านตลาดกลางยางพารา ขณะเดียวกัน "กยท. " ได้เริ่มทดสอบ national platform ซึ่งเป็นระบบที่จะเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน ทำให้แสดงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับได้ครบถ้วนทั้ง 100%
ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยาง ขึ้นทะเบียนกับ กยท. กว่า 90% สามารถระบุที่ตั้งของสวนยางได้ พร้อมรองรับตามกฎ EUDR โดย กยท. ได้ดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาระบบการจัดการสวนยางอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพิ่มโอกาสส่งออกยางไทยในตลาดโลก
"รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและติดตามมาตรการ EUDR มาอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ กยท. ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานของสหภาพยุโรป ในการผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อให้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของไทยสามารถส่งออกได้ตามมาตรฐาน ซึ่งการสร้างความพร้อมให้กับวงการยางพาราไทย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล หารือและสร้างแนวทางขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยเฉพาะแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ปลูกยาง จึงมั่นใจได้ว่ามาตรการ EUDR จะไม่เป็นอุปสรรคต่อวงการยางพาราไทยอย่างแน่นอน แต่เป็นโอกาสที่ดีช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระดับโลกต่อไป" เขา กล่าว
ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
"สหภาพยุโรป" เตรียมใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) มีสาระสำคัญอยู่ที่สินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า การนำเข้ายางและผลิต ภัณฑ์จากยางจะต้องมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และ พื้นที่ป่า รวมถึงการจัดการสวนยางพารา ที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม