ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดีเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ศาลปกครองกลางยกฟ้อง กรณี BTSC ยื่นฟ้องคณะกรรมการ ม.36 และ รฟม. ประเด็นการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ 2
ตามที่ "การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" (รฟม.) ได้มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ 2 วันที่ 24 พ.ค. 2565 ต่อมา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" และ รฟม. กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ลงวันที่ 24 พ.ค. 2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค. 2563 เป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีแล้ว อันมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
ในวันนี้ (25 ก.ค. 2566) ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุป ว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ รฟม. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้ดุลพินิจในการจัดทำประกาศเชิญชวนและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือน พ.ค. 2565 โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความจำเป็นแห่งกรณีเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ ไม่มีลักษณะเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีเข้าร่วมลงทุนในโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" แต่อย่างใด
การที่ BTSC ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือขอขยายระยะเวลาการยื่นข้อเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงรับฟังได้ว่า BTSC เข้าใจหลักเกณฑ์การคัดเลือกเป็นอย่างดี และสามารถจัดหาเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอได้ เอกชนที่สามารถเข้าร่วมตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวจึงไม่ได้มีเพียงรายเดียวดังที่มีการกล่าวอ้าง
การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี ประกอบกับขั้นตอนการจัดทำรายงานผลการศึกษา และการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเป็นไปตามกฎหมายร่วมลงทุนและประกาศที่เกี่ยวข้องแล้ว
ดังนั้น การจัดทำประกาศเชิญชวนร่วมลงทุน "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือน พ.ค. 2565 จึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามรูปแบบ และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ไม่มีลักษณะประการใดที่จะเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ศาลพิพากษายกฟ้อง
ทั้งนี้ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย–มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)