'กอนช.' พยากรณ์ ผ่านฝนทิ้งช่วง ได้เวลาที่ดอนทำนาปี -พท.ลุ่มต่ำแนะงดทำนา
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ "กอนช." ประเมินสถานการณ์ภาวะ "ฝนทิ้งช่วง" ขณะนี้ จบสิ้นไปแล้ว คงเหลือเพียง ฝนตกน้อยในบางพื้นที่ สำรับพื้นที่ดอนที่เคยชะลอการทำนาปี กลับมาทำนาได้เลย ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำอย่าเสี่ยง
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า แม้อิทธิพลของพายุตาลิม จะผ่านประเทศไทยไปแล้ว แต่ยังมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กําลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ยังจะทำให้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในปีนี้น่าจะสิ้นสุดลงแล้ว คงเหลือเพียงฝนตกน้อยในบางพื้นที่ ดังนั้น เกษตรกรในพื้นที่ดอนที่ชะลอการทำนาปีเพื่อรอฝน ขณะนี้สามารถทำนาปีได้แล้ว โดยตามแผนที่วางไว้นั้น จะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศทั้งสิ้น 16.98 ล้านไร่ ขณะนี้ปลูกไปแล้ว 12.54 ล้านไร่ เหลืออีกประมาณ 4.44 ล้านไร่
ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่ได้มีการปลูกข้าวนาปีไปก่อนหน้านี้แล้ว และจะเก็บเกี่ยวประมาณเดือนส.ค. - ก.ย. นี้ "กอนช." ขอความร่วมมือให้งดทำนาต่อเนื่อง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่สำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2566/67 ได้ เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567 จะทำให้ฝนตกน้อยกว่าปกติ ซึ่งที่ผ่านมาฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 24% ดังนั้น จะต้องการวางแผนบริหารจัดการน้ำให้รอบคอบ และใช้น้ำที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ด้านสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ ขณะนี้ปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าเริ่มมากกว่าปริมาณน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนแล้ว ล่าสุด ณ วันที่ 25 ก.ค. มีปริมาณรวมกันทั่วประเทศ 35,890 ล้านลูกบากศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 51 ของปริมาณการกักเก็บ โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 12,253 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของปริมาณน้ำที่ใช้การได้ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2565 จำนวน 3,570 ล้าน ลบ.ม. โดยมีปริมาณนํ้าไหลลงอ่างฯ จำนวน 168.53 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ปริมาณการระบายน้ำออกอยู่ที่ 89.40 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าหลังจากสิ้นสุดฤดูฝน ในวันที่ 1 พ.ย. ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่รวมกันทั่วประเทศจะมีประมาณ 55,046 ล้าน ลบ.ม. เป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 31,504 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 2565 ประมาณ 4,358 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปลายเดือนก.ค. เป็นต้นไป ฝนจะตกเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีจะพายุที่พาดผ่านประเทศไทยอีก 1-2 ลูก ซึ่งจะทำให้แหล่งน้ำต่างๆ กักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ยังสามารถรับนํ้าได้อีกมากกว่า 38,153 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ กอนช.ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 12 มาตรการ รับมือฤดูฝนของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญจะต้องกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด
พร้อมทั้งให้จัดทำแผนปฏิบัติการในการบริหารจัดการน้ำรายงานให้ กอนช. รับทราบโดยเร็ว นอกจากนี้ยังให้ทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช. ขับเคลื่อนสร้างการรับรู้และรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมขอความร่วมมือจากเกษตรกร กักเก็บน้ำไว้ในแหล่งเก็บน้ำของตนเองให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะมีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2566/67 อย่างเพียงพอกับความต้องการ
" สถานการณ์ในขณะนี้ แม้ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้น จะทำให้ฝนตกน้อยกว่าปกติ แต่อาจมีบางพื้นที่ที่ฝนตกหนัก เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ กอนช.ได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุอุทกภัยและดินถล่ม เตรียมความพร้อมเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ ประจำในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันต่อสถานการณ์ " ดร. ดร.สุรสีห์ ระบุ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)