น่าห่วง 'หนี้ครัวเรือน' ไทยพุ่ง รายจ่ายมากกว่ารายได้ วัยรุ่นรูดบัตรกระจาย
น่าห่วง 'หนี้ครัวเรือน' ไทยพุ่งมากที่สุดในรอบ 15 ปี คนไทยส่วนใหญ่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ วัยรุ่นใช้เงินอนาคตรูดบัตรเครดิตซื้อของกระจาย เหตุมาจากค่าครองชีพสูง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสถานภาพ "หนี้ครัวเรือน" ไทยปี 2566 พบว่า ภาระ "หนี้ครัวเรือน" เพิ่มสูงขึ้น มากที่สุดในรอบ 15 ปี โดยมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 559,408 บาท ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 11.5 % จากปี 2565 ที่มีหนี้รวม 501,711 บาทต่อครัวเรือน
สาเหตุที่หนี้เพิ่มสูงขึ้น มาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ถึง 16.8 % มีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 16.2 % เช่น รถยนต์ บ้าน มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 13.8% และ กลุ่มตัวอย่างถึง 60 % ไม่มีการออมเงิน นอกจากนี้ จากผลการสำรวจยังพบว่าคน GEN Y และ GEN Z ถึง 76 % ยอมรับว่าใช้เงินแบบไม่วางแผน 60.5% มีการใช้จ่ายเงินเกินตัว และ 47.2 % กู้ยืมเงินในอนาคตมาใช้ โดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิต อย่างไรก็ตามคาดว่า "หนี้ครัวเรือน" จะขึ้นไปสูงสุดในปี 2567 หลังจากที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลยังล่าช้า โดยล่าสุดกระทรวงการคลังได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP เหลือ 3.5% จาก 3.6 %
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามไทม์ไลน์ที่ คือ ในช่วง ส.ค.-ก.ย. นี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 3-3.5% และปี 2567 ขยายตัว 3.5-4 % แต่หากยืดเยื้อไปอีก 10 เดือน จะส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนกว่า 700,000 ล้านบาทอาจจะชะลอ รวมทั้งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง และทิศทางเศรษฐกิจโลกซบเซา มีผลทำให้การส่งออกของไทยติดลบต่อเนื่อง ดังนั้นการตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าค่อนข้างจะกระทบทำให้เศรษฐกิจฟื้นช้า รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจไทยจะมีความเสี่ยงมากขึ้น อาจโตต่ำกว่า 3-3.5 % ได้ หากการเมืองยังมีปัญหา และมีการประท้วงรุนแรง
หอการค้าไทยได้มีการเปรียบเทียบรายจ่ายและค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน โดยพบว่า ประเทศไทยมีรายได้ครัวเรือที่ต่ำกว่า 5,000 บาท 94.1% กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจมีดังนี้ ภาคกลาง 75.4% กรุงเทพฯ 72.8 % เกษตรกร 81.4% เกษียณอายุ 81.1% รับจ้าง 71.4%
นอกจากนี้ยังพบว่ามี รายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย 65.8% รายได้ครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย 32.0% รายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย 2.2% ส่วนใหญ่แก้ปัญหารายได้น้อยกว่ารายจ่าย ด้วยการกู้ยืมเงิน ไม่วาจะเป็นการกู้เงินจากธนาคาร การกดเงินจากบัตรกดเงินสด บริษัทสินเชื่อ กูยืมเงินจากญาติพี่น้อง