ตามคาด 'กนง.' มีมติเอกฉันท์ 'ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย' อีก 0.25% ต่อปี
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีก 0.25% ต่อปี ส่งผลให้ดอกเบี้ยพุ่งขึ้นเป็น 2.25 %ต่อปี โดยมีผลทันที
2 ส.ค. 2566 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี จาก 2.00% เป็น 2.25% ต่อปี ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยให้มีผลทันที
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มองว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยอุปสงค์จากต่างประเทศล่าสุดชะลอลงบ้าง แต่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะต่อไป ด้านอัตราเงินเฟ้อปรับลดลง และมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบเป้าหมาย โดยยังมีความเสี่ยงด้านสูง ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ประเมินว่าที่กำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพนโยบายการเงิน ควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวในระยะสั้น ส่วนหนึ่งตามเศรษฐกิจจีน และภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวได้ช้า แต่คาดว่าจะปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงสถานการณ์การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับลดลงจากราคาในหมวดพลังงาน มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ และผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า แต่จะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงแต่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าในอดีต โดยมีความเสี่ยงด้านสูงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับเพิ่มขึ้น หากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด ซึ่งอาจเร่งการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มองว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่คุณภาพสินเชื่ออาจด้อยลง จากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า คณะกรรมการฯ สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลง แต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ หลังจากที่ได้ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงวิกฤตโควิด-19
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวน ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ แนวโน้มเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย