สารกำจัดศัตรูพืชจากสารสกัดน้อยหน่าภูมิปัญญาไทย ต้นทุนต่ำ-ประสิทธิภาพสูง
จากที่น้อยหน่ามีสารสำคัญคือ Squamocin ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม Acetogenin ที่เป็นพิษต่อระบบประสาทของแมลง ยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง ยับยั้งการพัฒนาของระบบสืบพันธุ์ของแมลง และทำให้เกิดกระบวนการ apoptosis (การตายของเซลล์) ของแมลง
จากจุดเด่นดังกล่าว ทีมนักวิจัยจากกองวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์สารกำจัดศัตรูพืชจากสารสกัดน้อยหน่าเพื่อป้องกันหนอนใยผักในคะน้า โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า เมล็ดน้อยหน่ามีสาร Squamocin ซึ่งเป็นสารสำคัญที่สามารถป้องกันและกำจัดหนอนใยผักในคะน้าได้ดี
ทั้งนี้จากการทดลองทำสูตรผสมของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC ในห้องปฏิบัติการ โดยหาชนิดของตัวทำละลาย ชนิดของสารลดแรงตึงผิว ปริมาณตัวทำละลายและสารลดแรงตึงผิว
หลังจากนั้นทดสอบความคงสภาพทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้ เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความคงตัวแล้ว นำมาทดสอบประสิทธิภาพต่อหนอนใยผักในระดับห้องปฏิบัติการ ที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ พบว่ามีผลทำให้หนอนใยผักตายในอัตราระหว่าง 27.5 - 85% และการทดสอบประสิทธิภาพต่อหนอนใยผักในแปลงคะน้าเกษตรกร ดำเนินการทดลองในแปลงทดสอบที่จังหวัดนครปฐม และกาญจนบุรี พบว่าการพ่นสารผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC มีประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัดหนอนใยผักเทียบเท่ากับการใช้หัวเชื้อ BT (Bacillus thuringiensis) ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ดี โดยเฉพาะหนอนผีเสื้อ
สำหรับอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์สารกำจัดศัตรูพืชจากสารสกัดเมล็ดน้อยหน่าอย่างมีประสิทธิภาพในแปลงทดสอบอยู่ที่อัตรา 50-70 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร มีประสิทธิภาพเฉลี่ยที่ 71.02-79.49% ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับการใช้สารทดลอง Bacillus thuringiensis ที่มีประสิทธิภาพเฉลี่ยที่ 70.56 - 79.30% โดยควรฉีดพ่นสารฯ ทุก 5 วัน ติดต่อกัน 5 - 7 ครั้ง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมหนอนใยผักได้ดีในทุกแปลงทดสอบ และให้ผลผลิตเทียบเท่ากับการใช้หัวเชื้อ BT
คำแนะนำการใช้สารกำจัดศัตรูพืชจากสารสกัดน้อยหน่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรฉีดพ่นผลิตภัณฑ์ก่อนที่แมลงจะระบาดหนักเพื่อควบคุมและป้องกันแมลง เพราะสารสกัดจากพืชไม่สามารถป้องกันและกำจัดแมลงได้ทุกชนิด และใช้เวลาในการออกฤทธิ์ค่อนข้างนาน ดังนั้นจึงควรใช้สารเคมีควบคุมให้แมลงลดลงก่อนแล้วจึงใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากพืชเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ควรฉีดพ่นสารในเวลาที่ไม่มีแสงแดดจัดเพื่อป้องกันการสลายตัวของสารสำคัญในสารสกัดน้อยหน่า และควรฉีดพ่นสารให้ทั่วทั้งด้านบนและใต้ใบเนื่องจากหนอนใยผักมักจะชอบหลบอยู่ใต้ใบ และควรเก็บผลิตภัณฑ์สารสกัดจากพืชไว้ในที่ไม่มีแสงแดดและความร้อน เพื่อป้องกันการสูญเสียสารสำคัญ
การใช้สารกำจัดศัตรูพืชจากสารสกัดเมล็ดน้อยหน่า จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชในท้องถิ่น เพิ่มรายได้ให้กับเกษตร อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร สนับสนุนการผลิตพืชปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง นำสู่สุขอนามัยที่ดีของเกษตรกรและผู้บริโภค ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตรจากสารธรรมชาติ และกลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร กองวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร 02-9405421