กรมโรงงานอุตสาหกรรม หนุนสภาอุตฯจัด สัมมนาสวล - จัดการของเสีย EnwastExpo 2023
อธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรม หนุน การจัดงาน "งานแสดงสินค้าและสัมมนาด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสีย" : " EnwastExpo 2023" ที่มี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นแม่งานร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดขึ้น 4 - 6 ต.ค. ชี้สนองตอบอุตสาหกรรมอยู่คู่ชุมชนได้อย่างสมดุล ยั่งยืน
ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนความร่วมมือของ กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , สมาคมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน ที่ร่วมมือกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , กรมควบคุมมลพิษ, กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น , กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รวมไปถึงภาคเอกชนประกอบด้วย SCG, AMATA Facility และ สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย จัดงาน "งานแสดงสินค้าและสัมมนาด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสีย" EnwastExpo 2023 (Environmental & Waste Management Expo 2023) ในระหว่างวันที่ 4 - 6 ต.ค. ที่อาคาร 6 อิมแพค เมืองทองธานี
ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีความยินดีและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของภาคเอกชน ที่เกิดประโยชน์กับประเทศ ซึ่งการจัดงาน EnwastExpo 2023 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนและสอดคล้องตามนโยบายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวคือ มุ่งเน้นการทำงานโดยใช้หัวและใจใน 4 มิติ ภายใต้นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมให้อยู่คู่ชุมชนได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ประกอบด้วย
- มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจเน้นการใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรม
- มิติที่2 การดูแลสังคมและชุมชนรอบโรงงาน โรงงานกับชุมชนจะต้องอยู่ร่วมกันได้และจะต้องได้รับการยอมรับจากชุมชน
- มิติที่3 การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ประเทศไทยและประชาคมโลก โดยเฉพาะของเสียจากโรงงานจะต้องได้รับการจัดการตามมาตรฐานที่กำหนด
- มิติที่4 การคืนกำไรสู่สังคมและชุมชนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
กรมโรงงานฯเอาจริงจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ ในปี 2566 นี้ กรมโรงงานมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้บริหารจัดการอย่างเป็นระบบและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งรวมถึง กฎหมายการจัดการกากอุตสาหกรรม ที่จะมีผลบังคับใช้ประมาณปลายปีนี้ "เราได้ปฏิรูปกฎหมายการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ ซึ่งรวมถึง ผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม จะต้องรับผิดชอบกากอุตสาหกรรมไปจนกว่าจะได้รับการจัดการตามที่แจ้งไว้แล้วเสร็จเรียบร้อย รวมทั้งในปี 2566 นี้ กรมโรงงานได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อความสะดวกในการให้บริการอย่างครบวงจร ตามนโยบาย I-industry ของกระทรวงอุตสาหกรรม " อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุ
ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
.
นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานแสดงสินค้าและสัมมนาด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสียหรือ EnwastExpo 2023 (Environmental & Waste Management Expo 2023) ในระหว่างวันที่ 4-6 เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรม การจัดการสิ่งแวดล้อม ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมอื่นๆและกิจกรรมต่างๆของประเทศ พัฒนาได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
ครั้งแรกจัดงานใหญ่ในไทย
.
"ปัญหาสิ่งแวดล้อมจริง ๆ แล้ว ไมใช่เป็นปัญหาของประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลก ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจัดงานใหญ่ในลักษณะนี้ ทั้งที่จริงแล้ว งานสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศเป็นที่นิยมกันมากโดยมีการจัดงานใหญ่ต่อเนื่องมาตลอดหลายปีทีผ่านมา ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ บริษัทต่างๆในประเทศไทย ก็เดินทางไปดูงานประเภทนี้ในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง"
เขา กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาผลกระทบความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (climate change) ที่ได้รับผลกระทบมากเป็นอันดับที่ 9 ของโลกโดยในอีก 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มจะเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรงจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ยังไม่นับรวมสิ่งที่เกิดขึ้นจากการดำรงค์ชีวิตตามปกติของมนุษย์ที่ทำให้เกิดมลพิษ ในอีกหลายด้าน
"การจัดงานครั้งนี้เป็นการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการนำเสนอและถ่ายทอดเทคโนโลยี การบรรยายเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทย ก็ได้นำมานำเสนอในงานนี้ รวมไปถึงการสัมมนาวิชาการเรื่องการใช้ประโยชน์ของเสียให้คุ้มค่าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้เป็นแหล่งรวมให้ผู้สนใจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้จะได้ดูงานและจับคู่ธุรกิจต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ"
ผลักดันแนวคิด "ร่วมขับเคลื่อนสู่โลกที่ดีกว่า"
.
สำหรับแนวคิดของการจัดงาน อยู่ภายใต้หัวข้อ "ร่วมขับเคลื่อนสู่โลกที่ดีกว่า" มาจากองค์ประกอบ 3 ภาคส่วนสำคัญ ซึ่งได้แก่ ภาคส่วนที่ 1 ผู้ก่อกำเนิดมลพิษ ถือเป็นต้นทาง ภาคส่วนที่ 2 ผู้ที่จะช่วย บำบัด กำจัดหรือบริหารจัดการของเสียหรือมลพิษ และ ภาคส่วนที่ 3 ภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งทั้ง 3 ภาคส่วนจะต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การลงทุนที่คุ้มค่า และบุคคลากรที่มีคุณภาพและเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การจัดการปัญหาเหล่านี้ สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีวิวัฒนาการตลอดเวลา เราไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ได้ ทั้ง 3 ภาคส่วนจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อไปสู่โลกที่ดีกว่าซึ่งรวมถึงสังคมคาร์บอนต่ำที่จะช่วยชะลอภาวะโลกร้อน "ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าว
นายพิษณุ จารุพัฒนะสิริกุล นายกสมาคมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน กล่าวว่า นอกจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้วยังมี ภาคครัวเรือนและประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการค้าขายต่างๆ ที่เป็นผู้ก่อกำเนิดมลพิษและของเสีย ดังนั้นจะต้องช่วยกันดูแล และจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วแล้วการจัดการของเสียจะเข้าสู่ระบบของโรงงานอุตสาหกรรมในปลายทาง แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันจึงจะสำเร็จได้จริง
ธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ซ้าย ) และ พิษณุ จารุพัฒนะสิริกุล นายกสมาคมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน