กอนช. รับมือฤดูฝนภายใต้สถานการณ์เอลนีโญ คลอด 3 มาตรการเพิ่ม - เข้มใช้น้ำ
วงถกขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดฝนรองรับสถานการณ์เอลนีโญ โดยมีรองผอ. "กอนช." เป็นประธาน ร่วมกับ 20 หน่วยงาน รับรู้ตรงกันถึงการออก แนวทางการขับเคลื่อนมาตรการฤดูฝน ปี 2566 เพิ่มอีก 3 มาตรการ จากเดิม 12 มาตรการ เข้ม บริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำ ให้เหมาะสมน้ำต้นทุน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดฝนเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ โดยมีตนเป็นประธาน การประชุมครั้งนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช. มากกว่า 20 หน่วยงาน ร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการฤดูฝน ปี 2566 เพิ่มเติมอีก 3 มาตรการ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก กอนช. เรียบร้อยแล้ว จาก 12 มาตรการเดิม เพื่อรับมือสถานการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบจากปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนน้อยเช่นกัน
โดยที่ประชุมได้หารือร่วมกันในรายละเอียดแนวทางปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อน 3 มาตรการ ให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ซึ่งประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำของลุ่มน้ำ โดยให้กรรมการลุ่มน้ำร่วมกันจัดลำดับความสำคัญให้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ซึ่งเสร็จไปแล้ว 10 ลุ่มน้ำ เหลือ 12 ลุ่มน้ำ จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนกันยายน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปวางแผนบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยให้ความสำคัญกับการให้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศ เป็นลำดับแรก ๆ
มาตรการที่ 2 ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้เกษตรกร เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางการส่งเสริมอาชีพทางเลือกเพิ่มเติม กรณีที่ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ เพื่อที่เกษตรกรจะได้มีรายได้ในการดำรงชีพอย่างต่อเนื่อง เช่น อาชีพหัตถกรรม แปรรูปผลิตภัณฑ์ OTOP ผลิตปุ๋ย เพาะเห็ด เลี้ยงปลา เพาะพันธุ์ไม้ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว เป็นต้น
มาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยในภาคการเกษตรจะส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่ เช่น การปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ปรุงปรุงระบบการให้น้ำพืช น้ำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น พร้อมทั้งให้รณรงค์การประหยัดน้ำของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยหน่วยงานภาครัฐจะต้องวางแผนลดการใช้น้ำอย่างเป็นรูปธรรม เร่งประชาสัมพันธ์การใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าอย่างต่อเนื่อง
ส่วนภาคเอกชนโดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้นำระบบ 3R นำน้ำที่ใช้แล้วบำบัดนำมาใช้ใหม่ เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำได้มากกว่า 10% นอกจากนี้ให้ดำเนินการลดการสูญเสียในระบบประปาและระบบชลประทาน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำในระบบชลประทานด้วยการปรับรอบเวรการส่งน้ำ ให้สอดรับกับปริมาณความต้องการน้ำของพื้นที่
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดฝนเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ
.
"กอนช. พร้อมจะติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน และมาตรการเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการดังกล่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง กอนช. มั่นใจว่า หากทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช. และประชาชน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่จะเพียงพอสำหรับการอุปโภค - บริโภค และการรักษาระบบนิเวศอย่างแน่นอน ให้ความมั่นใจว่าประเทศไทย จะรอดพ้นวิกฤตสถานการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน " เลขาธิการ สทนช. ระบุ