ข่าว

กระหึ่มโลก 'กรมวิชาการเกษตร' ใช้ดีเอ็นเอบาร์โค้ด แยก 'พริกสายพันธุ์ไทย'

กระหึ่มโลก 'กรมวิชาการเกษตร' ใช้ดีเอ็นเอบาร์โค้ด แยก 'พริกสายพันธุ์ไทย'

04 ก.ย. 2566

กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยใช้ดีเอ็นเอบาร์โค้ดในการจัดจำแนกชนิด หรือสายพันธุ์พริก และศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างชนิดและสายพันธุ์พริกในประเทศไทย

"พริก" เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญคนไทยส่วนใหญ่ชอบรับประทาน ในประเทศไทยมีการปลูกและจำหน่ายมากมายหลายพันธุ์ มีความคล้ายคลึงกันมองภายนอกแยกไม่ออก  จากปัญหาดังกล่าว กลุ่มวิจัยพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและจุลินทรีย์ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยใช้ดีเอ็นเอบาร์โค้ดในการจัดจำแนกชนิดหรือสายพันธุ์พริกและศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างชนิดและสายพันธุ์พริกในประเทศไทย 
 

การดำเนินงานวิจัยได้เก็บรวบรวมตัวอย่างพริกสายพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย นำมาศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา จัดทำพรรณไม้แห้งอ้างอิง เก็บรักษาเมล็ดเชื้อพันธุ์ไว้ที่ธนาคารเชื้อพันธุ์พืชกรมวิชาการเกษตร และศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมด้วยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการด้วยวิธีดีเอ็นบาร์โค้ดตำแหน่ง internal transcribed spacer (ITS) พบว่า สามารถแบ่งกลุ่มพริกที่พบในประเทศไทยได้เป็น 4 ชนิด ได้แก่ Capsicum annuum L., C. baccatum L., C. chinense Jacq. และ C. frutescens L. และพบว่า ITS เป็นตำแหน่งที่มีประสิทธิภาพสำหรับใช้เป็นดีเอ็นเอบาร์โค้ดของพริก สามารถใช้จัดจำแนกความแตกต่างระดับชนิดและระดับสายพันธุ์ของพริกในประเทศไทย

 

 

แผนภูมิความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ

 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพริก C. annuum ซึ่งจากการศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางพันธุกรรม พบว่า พริกกลุ่มนี้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง และยังพบว่ากลุ่มพริกบางช้างมีความแปรผันทางพันธุกรรมที่มีหลากหลายสูงถึง 5 กลุ่มโดยความแปรผันนั้นไม่ขึ้นกับลักษณะทางสัณฐานวิทยา ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าดีเอ็นเอบาร์โค้ดตำแหน่ง ITS มีประสิทธิภาพสูงในการจัดจำแนกชนิดพริก ในการระบุเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมเฉพาะตัวและยังช่วยยืนยันพริกกลุ่มC. annuumมีความสัมพันธ์เป็นแบบ monophyletic ที่มาจากเครือบรรพบุรุษร่วมกัน 
 

 

 

แผนภูมิความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ

 

"ดีเอ็นเอบาร์โค้ด" ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีประสิทธิภาพ และความแม่นยำ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการระบุชนิดของสิ่งมีชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น ช่วยยืนยันการจำแนกชนิดด้วยลักษณะทางสัณฐานวิทยาให้เป็นไปอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังสามารถนำดีเอ็นเอบาร์โค้ดมาใช้ในการระบุเอกลักษณ์ประจำพันธุ์พืชได้ ดังนั้นวัตถุประสงค์ในการศึกษานี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความสัมพันธ์ของวิวัฒนาการชาติพันธุ์และความหลากหลายทางพันธุกรรมของพริก และทดสอบประสิทธิภาพของดีเอ็นเอบาร์โค้ดระบุเอกลักษณ์ความเป็นเจ้าของพริกในประเทศไทยได้อีกด้วย โดยผลงานวิจัย "ดีเอ็นเอบาร์โค้ดเพื่อการระบุเอกลักษณ์พริกสายพันธุ์ไทย" ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประเภทงานวิจัยพื้นฐาน ในปี 2565 จากกรมวิชาการเกษตร