'สศก.' ทำแผน พัฒนา 'มันสำปะหลัง" ป้อนอุตฯชีวภาพ 'ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ'
เลขาธิการ สศก. เผย ขณะนี้กำลังจัดทำ "ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาสินค้ามันสำปะหลัง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ชี้ทิศทางการพัฒนานับจากนี้ ควรขยายไปที่ ผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ ที่สามารถย่อยสลายและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ( สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ได้วางกรอบแนวทางการพัฒนา โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC) ให้เป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งการดำเนินแผนดังกล่าว ต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการวัตถุดิบให้เพียงพอ มีต้นทุนต่ำ มีตลาดและอุตสาหกรรมรองรับที่ชัดเจน รวมถึงมีการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบ โลจิสติกส์ การขนส่ง และการลดต้นทุนด้านพลังงาน
เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ สามารถประกอบกิจการได้อย่างมีศักยภาพ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ "สศก." ในฐานะหน่วยงานหลักในการเสนอแนะนโยบาย จัดทำแผนพัฒนาและมาตรการทางการเกษตร จึงได้มีการศึกษา "ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาสินค้ามันสำปะหลัง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC)" โดยรวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิต การตลาด ที่เกี่ยวข้องกับสินค้ามันสำปะหลัง ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และ หนองคาย โดยในช่วงเดือนมกราคม และมีนาคม ที่ผ่านมา
มีการลงพื้นที่จังหวัดนครรราชสีมา เพื่อสำรวจผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา ได้แก่ บริษัท พูลอุดม จำกัด , บริษัท อัพเวนเจอร์ จำกัด , บริษัท เยนเนรัล สตาร์ช จำกัด ,บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด และโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาสินค้า มันสำปะหลัง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC)
ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ด้านการผลิต พบว่า ผลผลิตมันสำปะหลังภายในประเทศปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยในปี 2564/2565 ประเทศไทย ผลิตหัวมันสดได้ 35 ล้านตัน แต่มีความต้องการใช้หัวมันสดมากถึง 46.57 ล้านตัน ดังนั้น การส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลัง จึงควรเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการกระบวนการผลิตทั้งหมด โดยการส่งเสริมองค์ความรู้ในการเพาะปลูก เช่น การปรับปรุงและเตรียมดิน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การใช้สารชีวภัณฑ์ การใช้เปลือกดินมันสำปะหลังเพื่อนำไปปรับปรุงบำรุงดิน
การวิจัยและพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับพื้นที่ ให้ผลผลิตสูง และต้านทานโรค เป็นต้น รวมถึงควรควบคุมคุณภาพของเปอร์เซ็นต์แป้งและสิ่งเจือปนที่มากับมันสำปะหลัง เพื่อพัฒนาให้สินค้ามีคุณภาพมาตรฐานยิ่งขึ้น เพื่อลดการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังของประเทศ
ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ( สศก.)
.
ด้านการแปรรูป มันสำปะหลังสามารถนำไปแปรรูปได้หลายผลิตภัณฑ์ โดยอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังส่วนใหญ่ของไทย เป็นการแปรรูปขั้นต้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด เอทานอล แป้งมันสำปะหลัง แป้งดัดแปลง ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาต่อยอดที่หลากหลาย อาทิ ผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ เพื่อผลิตเป็นถุงมือทางการแพทย์ ยา หลอดฉีดยาที่สามารถย่อยสลายและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงการผลักดัน ให้ผลิตภัณฑ์เอทานอลของไทยสามารถแปรรูปและจำหน่ายได้อย่างหลากหลาย จะช่วยเพิ่มความสามารถในแข่งขันของห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ และส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ
การตลาด มีความต้องการผลผลิตมันสำปะหลัง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้น เช่น อาหารสำหรับบริโภค เอทานอล และอาหารสัตว์ โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลัก คือ จีน ทำให้ราคาส่งออกทั้งมันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลังปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่ได้ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ดังนั้น จึงควรพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ให้ตรงตามความต้องการของตลาด และเพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาเพียงตลาดเดียว
"ในการจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาสินค้ามันสำปะหลัง จะเป็นการเชื่อมโยงและรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยขณะนี้สศก. อยู่ระหว่างการประมวลผลและวิเคราะห์ผลการศึกษาดังกล่าว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ ( กย. ) เพี่อนำมาประกอบการกำหนดนโยบาย มาตรการต่างๆ รวมทั้งเผยแพร่สู่สาธารณชนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับนำไปพัฒนา ต่อยอด วางแผน การผลิตและการตลาดให้กับเกษตรกรต่อไป " เลขาธิการ สศก. กล่าว
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ( สศก.) กำลังศึกษา "ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาสินค้ามันสำปะหลัง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC)" โดยรวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิต การตลาด ที่เกี่ยวข้องกับสินค้ามันสำปะหลัง ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย