ภาครัฐยกนิ้ว 'แปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว' สุดแกร่ง สร้างผลงานภาคการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี ติดตามสถานการณ์ "ทุเรียนเขาจ้าว" จากการรวมกลุ่มเกษตรกรเขาจ้าว ปราณบุรี พบ "แปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว" พัฒนาตัวเองได้ต่อเนื่อง ทั้งผ่านการรับรองมาตรฐาน รอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ส่วนรายได้ ทำกำไร 173,450 บาท/ไร่/ปี
น.ส.ศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า "ทุเรียนเขาจ้าว" เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้ประจวบคีรีขันธ์ แหล่งปลูกสำคัญอยู่ในพื้นที่ ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี ซึ่ง สศท.10 ได้ติดตามสถานการณ์การผลิต พบว่า "แปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว" กลายเป็นตัวอย่างการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ ที่ประสบความสำเร็จ กระทั่งได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2566 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผลการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2566
"แปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว" เกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกร ในปี 2560 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 1,030 ไร่ มีเกษตรกรสมาชิก 55 ราย ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP [ การปฏิบัติทาง การเกษตรที่ดีในการผลิตพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและ ผู้บริโภค] จำนวน 37 ราย และอยู่ระหว่างการขอรับรอง 4 ราย ซึ่งกลุ่ม "แปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว" ได้มีการจัดอบรมมาตรฐานเกษตรอินทรี ย์เพื่อยกระดับการผลิตทุเรียนเข้าระบบเกษตรอินทรีย์ และอยู่ระหว่างดำเนินการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยคาดว่าจะได้ขึ้นทะเบียน GI ภายในปีนี้
ในภาคการผลิตของ "แปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว" พบว่า เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์หมอนทอง เนื่องจากเป็นพันธุ์ทางการค้าเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ตลาดในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการ ซึ่งในปีแรกของการลงทุนมีต้นทุนเฉลี่ย 23,800 บาท/ไร่/ปี ประกอบด้วย ค่าเตรียมดิน ค่าปลูก ค่าต้นพันธุ์ ค่าดูแลรักษา และอื่น ๆ ปีที่ 2 -3 มีต้นทุนเฉลี่ย 22,100 บาท/ไร่/ปี ต้นทุนลดลงเนื่องจากเกษตรกรไม่มีค่าเตรียมดิน ค่าปลูก และค่าต้นพันธุ์ และเมื่ออายุทุเรียนเข้าสู่ปีที่ 4 - 6 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มให้ผลผลิตจะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 19,600 บาท/ไร่/ปี เนื่องจากลดสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และฮอร์โมน/อาหารเสริมให้กับต้นทุเรียน
.
ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 173,450 บาท/ไร่/ปี
.
การปลูกเกษตรกรนิยมปลูกในช่วงเดือนพ.ค. - มิ.ย. เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน สภาพภูมิอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้า ให้ผลผลิตเฉลี่ย 990 กิโลกรัม/ไร่ (ทุเรียนหมอนทอง 1 ลูก มีน้ำหนักประมาณ 2 – 4 กิโลกรัม) ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 190 - 200 บาท /กิโลกรัม เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 193,050 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 173,450 บาท/ไร่/ปี สำหรับปี 2566 ผลผลิต "ทุเรียนเขาจ้าว"ของ "แปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว" ออกสู่ตลาดตั้งแต่มิ.ย. และจะออกต่อเนื่องถึงส.ค. ทั้งหมด 350 ตัน โดยผลผลิตจะออกมากสุดในเดือนก.ค. (คิดเป็นร้อยละ 44 ของผลผลิตทุเรียนเขาจ้าวทั้งจังหวัด)
ภาพรวมสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จำหน่ายในพื้นที่ และที่สวนขายให้กับกลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือนักท่องเที่ยวทั่วไป และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 จำหน่ายทางออนไลน์ ได้แก่ Facebook ของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com โดยมีการรับประกันคุณภาพ หากทุเรียนเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่ง หรือทุเรียนไม่ได้คุณภาพ ทางกลุ่มแปลงใหญ่จะชดเชยให้กับผู้ซื้อทุกราย
.
ใช้เทคโนโลยีสกัดปัญหาศัตรูพืช
.
กลุ่ม "แปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว" ได้ดำเนินการผลิตทุเรียนแบบครบวงจร สร้างอัตลักษณ์ภายใต้แบรนด์ "ทุเรียนเขาจ้าว" โดยได้รับการผลักดันจากอำเภอปราณบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอปราณบุรี ในการสนับสนุนด้านการเพาะปลูก การตลาด การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตลอดจนมาตรฐานของสินค้าเพื่อให้ผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพ นอกจากนี้ กลุ่มแปลงใหญ่ได้นำเทคโนโลยี ถุงห่อ Magik Growth มาใช้เพื่อช่วยให้ลดแมลงศัตรูพืชและลดการกัดแทะจากสัตว์ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการสะสมน้ำหนักแห้ง ผลสวย สีผิวสวย ไม่มีสารเคมี และการทำเกษตรตามหลัก BCG Model ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตดีเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
การสร้างมูลค่าจากผลผลิต ยังรวมไปถึงการนำทุเรียนตกเกรด มาเริ่มทดลองแปรูปสินค้า อาทิ ทุเรียนทอด ทุเรียนเชื่อม ทุเรียนฟรีช ข้าวเกรียบทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน ในอนาคตยังมีแนวโน้มขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของตลาด และส่งเสริมให้เกษตรกรขายผ่านตลาดออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกันในช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งจะเป็นช่วงที่ผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาด กลุ่ม "แปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว" ยังร่วมกับที่ว่าการอำเภอปราณบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาจ้าว จัดงานเทศกาลทุเรียนเขาจ้าวและของดีอำเภอปารณบุรี ณ ที่ว่าการอำเภอปราณบุรี ต.เขาน้อย อ.ปราณบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์ สะท้อนให้เห็นถึงการผลักดันให้ผลิตทางการเกษตรจากแหล่งปลูกในท้องถิ่น สร้างคุณค่าต่อการยกระดับเศรษฐกิจ