รัฐประเมินผลใช้งาน 'โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา' เอื้อพท. 1,775 ไร่
"โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา" เขื่อนห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปราจีนบุรี ก่อสร้างปี 53 แล้วเสร็จ 67 ด้วยเป้าหมาย พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน สศก. โดยศูนย์ประเมินผล สรุป ปีเพาะปลูก 2565/2566 โครงการเอื้อจัดสรรน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 1.7 พันไร่
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามผลการดำเนินงาน "โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา" (เขื่อนห้วยโสมง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. ปราจีนบุรี ซึ่งมีกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553 ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วไปกว่า 91% และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี 2567
สำหรับ "โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา " (เขื่อนห้วยโสมง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ลักษณะเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน มีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำสาขาในเขตพื้นที่ อ.อำนาดี และ อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี ใช้เป็นแหล่งน้ำด้านการอุปโภค-บริโภค และการประปา รักษาระบบนิเวศ และผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสีย ในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง
อีกทั้งใช้อ่างเก็บน้ำเป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้โอกาส การเกิดไฟไหม้ป่าลดลง หรือสามารถนำน้ำมาใช้ดับไฟป่า
สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามการใช้ประโยชน์ ในช่วงเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า ในปีเพาะปลูก 2565/2566 (พ.ค. 2565 - เม.ย. 2566) "โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา " (เขื่อนห้วยโสมง) สามารถจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งได้ถึง 209 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนในช่วงฤดูฝนจัดสรรน้ำได้ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ และเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ ผลไม้ นาข้าว และบ่อปลา จำนวน 1,775 ไร่ นอกจากนี้ ยังใช้น้ำเพื่อชะลอความเค็มในลุ่มน้ำบางปะกงในช่วงฤดูแล้ง 205 ล้านลูกบาศก์เมตร
.
ทำแผนป้องกันแก้ไขผลกระทบช่วยเกษตรกร
.
ขณะเดียวกันใน "โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา " (เขื่อนห้วยโสมง) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ เช่น ผลกระทบจากการขุดและถมพื้นที่เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ การสูญเสียพื้นที่ดินและทรัพยากรดินบางส่วนเพื่อใช้ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติเดิมของดินในกิจกรรมก่อสร้าง โดยเกษตรกรภายใต้แผนดังกล่าว จะได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมพัฒนาอาชีพการผลิตแบบเกษตรผสมผสาน รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิต โดยเมื่อติดตามผลแต่ละด้าน พบว่า
ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
.
ด้านเศรษฐกิจ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร พร้อมสนับสนุนพันธุ์ไม้ ปุ๋ยคอก และปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูกพืชทางเลือกใหม่ ด้านกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการป้องกันการเสื่อมโทรมของดินในพื้นที่ชลประทาน โดยส่งเสริมการปรับปรุงดิน และการพัฒนาเกษตรกรด้านการพัฒนาที่ดิน พร้อมสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ในการทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ ภาคประมง กรมประมง ดำเนินการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และการส่งเสริมการเลี้ยงปลา เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในช่วงฤดูปลามีไข่
.
สร้างรายได้ต่อครัวเรือนให้เกษตรกร -ลดค่าใช้จ่าย
.
พร้อมสนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหาร ส่งผลให้เกษตรกรร้อยละ 23 มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการนำปัจจัยการผลิต อาทิ ไม้ผล ปลาดุก โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5,921 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และเกษตรกรร้อยละ 25 สามารถลดรายจ่าย จากการนำผลผลิตมาบริโภคในครัวเรือน ได้เฉลี่ย 1,922 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี และร้อยละ 78 สามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงได้เฉลี่ย 7,044 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งมาจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองทดแทนปุ๋ยเคมี การใช้สารชีวภัณฑ์แทนการใช้สารสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และได้รับสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากหน่วยงาน
ด้านสังคม เกษตรกรร้อยละ 28 มีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมทางการเกษตร เช่น กลุ่มแปรรูปและผลิตอาหารปลา กลุ่มไม้ผล กลุ่มปุ๋ยหมัก และกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ และเกษตรกรร้อยละ 80 มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในชุมชน เช่น การปลูกต้นไม้ในชุมชน ปล่อยปลาลงเขื่อน ร่วมพัฒนาหมู่บ้าน และ ด้านสิ่งแวดล้อมเกษตรกรร้อยละ 72 ลดการใช้สารเคมีในการผลิต และร้อยละ 81 ใช้อินทรียวัตถุเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินช่วยให้ดินมีธาตุอาหารเพิ่มขึ้น
ในภาพรวมเกษตรกรร้อยละ 94 พอใจต่อการดำเนินงานของโครงการ และมีความตั้งใจทำกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม ไปเผยแพร่/ขยายผลให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง การใช้ประโยชน์จากโครงการยังไม่สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ และในส่วนกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าติดตาม ให้คำแนะนำเกษตรกร ที่ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการเกษต รภายหลังได้รับประโยชน์จากน้ำชลประทาน อันมีที่มาจากโครงการ เลขาธิการ สศก. ระบุ