นายกฯ จี้ ทอท. ดูแล ปชช. เดือดร้อนเครื่องบิน - ท่าอากาศยานแห่งที่ 2 งบ 7 หมื่นล.
นายกฯเศรษฐา หารือกับชาวบ้านแม่เหียะ เมืองเชียงใหม่ หลังภาครัฐมีแนวทาง เพิ่มจำนวนเที่ยวบินขึ้น- ลง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อพื้นที่โดยตรง ในแง่ของมลภาวะด้านต่าง ๆ ย้ำความมั่นใจ รัฐบาลเดินหน้าฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ควบคู่การรับฟังและแก้ปัญหาที่เป็นผลกระทบ
ที่เทศบาลเมืองแม่เหียะ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชน โดยเฉพาะมลภาวะทางเสียง ที่มาจากการขึ้นลงเครื่องบินยังท่าอากาศยานเชียงใหม่ และการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับ ชาวบ้านแม่เหียะ ว่า โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานโดยเฉพาะสนามบินหรือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอีกจุดหนึ่ง ที่จะทำให้การท่องเที่ยวของไทยเติบโต ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ก้าวไปข้างหน้าเป็นไปตามศักยภาพที่ควรจะเป็น
การมาพูดคุยในวันนี้ เพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการขยายระยะเวลาการบิน เนื่องจากอาจจะเป็นการกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลนี้ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการออกนโยบายที่อาจจะมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ใช่มิติเศรษฐกิจอย่างเดียว หากมีผลกระทบอะไรก็ขอให้พูดคุยกัน รัฐบาลจะน้อมรับไปปฏิบัติและช่วยเหลือเยียวยา
.
"เศรษฐา"ให้ความมั่่นใจตระหนักความเดือดร้อนปชช.
.
หลังจากนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากภาคประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากเสียง ฝุ่นควัน ที่อยู่อาศัยเสียหาย ( หลังคาร่วง) นอกจากนี้ยังมีประชาชนหญิงรายหนึ่งกล่าวว่า อยากให้นายกรัฐมนตรี ระบุให้ชัดเจนว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้ มาเพื่อยืนยันว่ามีปัญหา มาเพื่อบอกกล่าวหรือมาเพื่อแก้ไข เพราะขณะนี้ยังมีความคลุมเครือ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการชดเชย โดยผู้อำนวยการ ท่าอากาศยานไทย ( ทอท. ) จะให้รายละเอียด ขอความเห็นใจ พยายามทำอยู่ ไม่ได้มาแค่เยี่ยมเยียนแล้วขายฝันระยะสั้น ตั้งใจจริงมาพูดคุยต้องการทราบปัญหาจริง ๆ
ต่อมานายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปที่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ พบปะผู้บริหารการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อร่วมพูดคุยประเด็นการเพิ่มเที่ยวบินหลังเที่ยงคืนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
.
เดินหน้าสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ลดความแออัด
.
นายกรัฐมนตรีรับฟังการดำเนินการเตรียมการรองรับ การเพิ่มเที่ยวบินหลังเที่ยงคืนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาปรับปรุงท่าอากาศยานเชียงใหม่ เช่น การพัฒนาปรับอาคารผู้โดยสารเดิม การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ (แต่อยู่ในพื้นที่เดิม) รวมถึงการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ในการแก้ปัญหา ความแออัดของผู้โดยสารของสนามบินเชียงใหม่ ปัจจุบันที่แม้จะมีการพัฒนาปรับปรุงสนามบินเพื่อรองรับผู้โดยสารแล้ว แต่เพื่อให้มีประสิทธิภาพรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นตามเป้าหมายคือ 20 ล้านคนต่อปี จึงต้องมีการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ขึ้น ส่วนการเพิ่มเที่ยวบินหลังเที่ยงคืนนั้น สามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายที่มีอยู่
.
งบลงทุน 7 หมื่นล้าน ระยะเวลาสร้าง 7 ปี
.
นายกรัฐมนตรี ย้ำ กับ บริษัทท่าอากาศยานไทย ( ทอท.) หรือ AOT นอกจากดูแลเรื่อง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แล้วก็ให้ดูแลเยียวยาประชาชนลดผลกระทบด้านเสียงเป็นไปอย่างเหมาะสม รวมถึงเยียวยาจิตใจด้วย พร้อมสอบถามถึงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี จะเกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับสนามบินปัจจุบันที่ผลกำไรอยู่ที่ 2 พันล้านบาทต่อปี
ทอท. รายงานว่า เมื่อก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่แล้วเสร็จจะมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาทต่อปี และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 20 ล้านคนต่อปี ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ในส่วนของระยะเวลาดำเนินการ 7 ปีนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม และขอเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้เพื่อรองรับผู้โดยสารได้ตามเป้าหมายและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล
.
ฟรีวีซ่า ขอให้พร้อมรับมือนักท่องเที่ยวเข้าไทย
.
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาลซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้น ขอให้ ทอท. และ ตรวจคนเข้าเมือง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเกิดความประทับใจและมีความปลอดภัย ขณะเดียวกันหากมีประเด็นการนำเสนอข้อที่เป็นไปในทิศทางอ่อนไหวและไม่ถูกต้อง ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคมผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ในรูปแบบที่น่าสนใจและเข้าใจง่าย หรือการใช้ Influencer ต่าง ๆ เข้ามาช่วยอีกทางหนึ่งก็ได้ ซึ่งจะสามารถสร้างความเข้าใจได้มากขึ้น
.
เปิดพื้นที่ได้รับผลกระทบเครื่องบินขึ้น -ลง
.
พื้นที่ ๆ คาดว่าจะได้รับผลกระทบ (แนวร่อนลง) ได้แก่ หมู่ 5 หมู่ 7 ต.แม่เหียะ (แนววิ่งขึ้น) ได้แก่ หมู่ 1 และหมู่ 10 ต.แม่เหียะ ทั้งนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ได้มีการตรวจวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเสียงอยู่เสมอ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากมีผลกระทบเกิดขึ้น ก็มีมาตรการในการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามกฎหมายที่กำหนดไว้แล้ว รวมถึงการซ่อมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายให้ด้วย