สทนช. การันตีสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกหายห่วง - ชู 6 แนวทางจัดการน้ำต้นทุน
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ "สทนช." เผยจากการประเมินของภาครัฐ ต่อสถานการณ์ พื้นที่ภาคตะวันออกที่พบว่ามีฝน เกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า 80% แต่ในแง่การบริหารจัดการน้ำป้อนพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกน้ำกิน น้ำใช้ จะสามารถฝ่าไปได้ถึงฤดูแล้งปีหน้าแน่นอน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการประชุมประเมินสถานการณ์น้ำร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อสถานการณ์น้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบ ว่า แม้สถานการณ์เอลนีโญของประเทศไทยซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง ที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณฝนตกสะสม ที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกที่เกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า 80%
แต่จากการประเมินสถานการณ์น้ำพบว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC จะมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน ภาคเกษตร ภาคพาณิชยกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว ตลอดฤดูฝนนี้และฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงจากการประเมินสถานการณ์น้ำ สทนช.ได้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนสูบน้ำผ่านโครงข่ายน้ำภาคตะวันออกเพื่อเติมน้ำต้นทุนระหว่างพื้นที่ ดังนี้
- แผนที่ 1.แผนสูบจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต-คลองพานทอง-อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ระยะเวลาช่วงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2566 จำนวน 61 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันสูบน้ำไปแล้วจำนวน 24.49 ล้าน ลบ.ม. เป็นไปตามแผน
- แผนที่ 2.แผนสูบจากแม่น้ำบางปะกง-อ่างฯบางพระ ระยะเวลาช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2566 จำนวน 24.45 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันสูบน้ำจำนวน 7.54 ล้าน ลบ.ม. เป็นไปตามแผนเช่นกัน โดยการสูบน้ำช่วงนี้จะดำเนินการในช่วงที่คุณภาพน้ำในแม่น้ำบางปะกงมีค่าความเค็มไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร
- แผนที่ 3.แผนสูบอ่างฯประแสร์-อ่างฯหนองปลาไหล ระยะเวลาช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566-มิถุนายน 2567 จำนวน 37 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2567 จะสูบน้ำได้รวม 30-35 ล้าน ลบ.ม. โดยแผนที่ 2 และแผนที่ 3 ดำเนินการโดย บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ East Water
- แผนที่ 4.แผนสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำคลองสะพาน-อ่างฯประแสร์ ระยะเวลาช่วงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2566 จำนวน 50 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ได้เริ่มสูบก่อนแผนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ปัจจุบันสูบได้เพียง 2.6 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากบริเวณคลองสะพานเกิดฝนทิ้งช่วง และปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยราว 70%
- แผนที่ 5.แผนสูบจากคลองวังโตนด-อ่างฯประแสร์ ระยะเวลาช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2566 จำนวน 25 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งระดับน้ำในคลองวังโตนดสูงถึงเกณฑ์การสูบ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนดแล้ว ขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อสูบน้ำตามปริมาณที่กำหนดไว้
- แผนที่ 6. สูบจากอ่างฯประแสร์-อ่างฯคลองใหญ่ ระยะเวลาช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2566 จำนวน 63 ล้าน ลบ.ม. ได้ดำเนินการสูบก่อนแผนในเดือนพฤษภาคม 2566 ปัจจุบันสูบไปแล้ว 30 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในส่วนนี้ยังคงเป็นไปตามแผน ไม่พบปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
.
เขา กล่าวว่า จากการคาดการณ์ ทิศทางร่องมรสุมจะพัดผ่านภาคตะวันออกในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งในพื้นที่ยังสามารถรับน้ำได้อีกมากกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกมีฝนตกเล็กน้อยถึงฝนตกมาก ที่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี อ.เขาสมิง และ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ส่วนปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ 50-80% มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สะสม 1 สัปดาห์ รวมอยู่ที่ 47.62 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางสะสม 1 สัปดาห์ รวม 93 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รวมกันอยู่ที่ 380 ล้าน ลบ.ม.
"จนถึงขณะนี้ให้ความมั่นใจว่า การจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในทุกกิจกรรมยังคงเป็นไปตามแผน ประกอบกับการสูบผันน้ำระหว่างโครงข่ายเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ช่วยเสริมความมั่นคงน้ำต้นทุนให้พื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำให้กับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป " ดร.สุรสีห์ ระบุ