ข่าว

‘ธีระชัย’ เปิด 9 ปมร้อน ‘เงินดิจิทัล’ ตอบให้ชัดก่อนแจกประชาชน

‘ธีระชัย’ เปิด 9 ปมร้อน ‘เงินดิจิทัล’ ตอบให้ชัดก่อนแจกประชาชน

09 ต.ค. 2566

'ธีระชัย' อดีต รมว.คลัง เปิด 9 ปมร้อน ‘เงินดิจิทัล’ ก่อนแจกเงินประชาชน ระบุ จะมีมาตรการป้องกันไม่ให้ชาวบ้านถูกหลอก-นำเงินไปเล่นพนันออนไลน์ ได้อย่างไร ตั้งข้อสังเกตุ สตง.-รัฐสภา ตรวจสอบไม่ได้ เข้าข่ายผิดหลักนิธิธรรม ขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่

มีทั้งฝ่ายต่อค้าน และฝ่ายสนับสนุนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ล่าสุดฝ่ายต่อต้านออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2566 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala มีเนื้อหา ดังนี้

 

แนะนำกรรมการเงินดิจิทัล

ตามที่รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับเงินดิจิทัล นั้น ผมมีความเป็นห่วงน้องๆ ข้าราชการ เกรงจะมีความเสี่ยงในการเสนอเรื่องนี้จึงใครขอฝากคำแนะนำบางประการ

หนึ่ง ขอบวัตถุประสงค์ของธนาคารออมสิน

พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑

“มาตรา ๒๘ การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดําเนินการน้ัน ให้กระทําได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น”

 

ดังนั้น กรณีที่รัฐบาลจะให้ธนาคารออมสินไปกู้เงินมาเพื่อใช้ในโครงการเงินดิจิทัล คณะกรรมการจะต้องแน่ใจเสียก่อนว่า โครงการแบบนี้อยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของธนาคารออมสินหรือไม่

 

 

สอง เหตุผลที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น

กรณีที่รัฐบาลจะกู้เงินด้วยตนเองเพื่อใช้ในโครงการเงินดิจิทัลนั้น ต้นทุนดอกเบี้ยที่รัฐบาลจ่ายย่อมจะต่ำกว่าที่ธนาคารออมสินต้องจ่าย

 

ดังนั้น คณะกรรมการจึงต้องมีเหตุผลชัดเจน เหตุใดรัฐบาลไม่กู้เงินด้วยตนเองอย่างโปร่งใส เพื่อให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ธนาคารออมสินต้องจ่าย และเป็นการเลี่ยงการสำแดงเจตนากู้หนี้สาธารณะหรือไม่

 

 

สาม ธนาคารออมสินเสี่ยงในการให้กู้แก่เอกชน

กรณีที่ธนาคารออมสินกู้เงินจากตลาดเงิน 560,000 ล้านบาท แล้วเอาเงินนั้นไปให้กู้แก่ 4 บริษัทเอกชนซึ่งจะเป็นผู้ออกโทเคนดิจิทัล นั้น ธนาคารออมสินย่อมจะมีความเสี่ยง โดยผู้กู้แต่ละรายกู้เงินมากเกิน 100,000 ล้านบาท

 

และเงินให้กู้ในโครงการนี้ 560,000 ล้านบาท ก็เป็นสัดส่วนที่สูงสำหรับลูกหนี้รายใหญ่ของธนาคารออมสิน ซึ่งแม้แต่โลโก้ ก็ระบุชัดเจนว่า‘รัฐบาลเป็นประกัน’

 

ดังนั้น คณะกรรมการจึงต้องเสนอให้ชัดเจนว่า จะให้ธนาคารออมสินบริหารความเสี่ยงตรงนี้อย่างไร

 

สี่ รายได้รัฐเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท

ทีมงานของท่านนายกเศรษฐาได้แถลงข่าวชัดเจนว่า โครงการเงินดิจิทัลจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท

 

ดังนั้น คณะกรรมการจึงต้องแจกแจงให้ชัดเจนว่า รายได้จะเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท จริงหรือไม่ และรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น จะประกอบด้วยภาษีชนิดใด และจะเกิดขึ้นเมื่อได

 

ห้า สตง. ไม่สามารถตรวจสอบได้

เนื่องจากเงินที่ธนาคารออมสินจะให้กู้แก่ 4 บริษัทเอกชนผู้ที่จะออกโทเคนดิจิทัล 560,000 ล้านบาท นั้น สตง. ไม่สามารถตรวจสอบบริษัทเอกชนได้

 

ดังนั้น คณะกรรมการต้องแถลงว่า จะให้ธนาคารออมสินดำเนินการอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทเอกชนปฏิบัติถูกต้องตามโครงการ และถูกต้องตามกฏหมาย เพื่อรักษาสถานะ‘รัฐบาลเป็นประกัน’ให้มั่นคง

 

หก ระวังแอพดูดเงินอย่างไร

เนื่องจากฝ่ายคนร้าย อาจจะถือโอกาสส่งแอพดูดเงินไปให้แก่ชาวบ้านในช่วงก่อนหน้าทางการส่งข้อมูล

ดังนั้น คณะกรรมการควรแนะนำรัฐมนตรีคลังว่า จะมีมาตรการป้องกันไม่ให้ชาวบ้านถูกหลอกได้อย่างไร

 

 

เจ็ด ระวังแอพพนันอย่างไร

เนื่องจากคาดเดาได้ว่า เว็บพนันของเอกชนน่าจะพยายามจูงใจให้ชาวบ้านที่ได้รับเงินดิจิทัล เอาไปเล่นพนันในเว็บที่จัดตั้งขึ้นในรัศมี 4 กม. โดยซ่อนรูปให้ดูคล้ายเป็นเว็บขายสินค้าออนไลน์

 

ดังนั้น คณะกรรมการควรมีข้อเสนอแนะว่า จะป้องกันการนำเงินดิจิทัลไปเล่นพนันออนไลน์ได้อย่างไร

 

แปด ค่าใช้จ่ายพัฒนาระบบบล็อคเชน

เนื่องจากขณะนี้ ทางการไทยมีการลงทุนระบบเงินโอนอิเล็กทรอนิกส์ไว้แล้ว คือแอพเป๋าตัง และเงินดิจิทัลของธปท.ซึ่งมีการทดสอบกับต่างประเทศผ่านเรียบร้อยแล้ว

 

กรณีถ้าหากรัฐบาลจะทำโครงการแบบประหยัด ก็สามารถให้ธนาคารกรุงไทยขยายเงื่อนไขในแอพเป๋าตังได้ หรือขอใช้เงินดิจิทัลของธปท.ได้

 

ดังนั้น คณะกรรมการจึงควรมีคำตอบให้แก่สังคม เหตุใดจึงจะเสนอแนะให้มีบริษัทเอกชนทำเงินดิจิทัลขึ้นใหม่ อันเป็นการลงทุนค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน

 

 

เก้า การเลี่ยงรัฐสภาตรวจสอบ

เนื่องจากการที่รัฐบาลจะให้ธนาคารออมสินเป็นผู้กู้เงินจากตลาดเงิน เพื่อนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล จะมีผลเป็นการเลี่ยงการเสนอโครงการเพื่อให้รัฐสภาอนุมัติเสียก่อนในระบบงบประมาณ

 

ในขณะที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา๓ วรรคสอง บัญญัติว่า“รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของ ประชาชนโดยรวม”

 

การเลี่ยงรัฐสภาตรวจสอบ จึงอาจเข้าข่ายคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการธนาคารออมสิน ปฎิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

 

ดังนั้น คณะกรรมการจึงควรเสนอแนะต่อรัฐมนตรีคลังว่า การเลี่ยงรัฐสภาตรวจสอบนั้น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ทั้งนี้ ผมเสนอแนะว่า กรณีที่คณะกรรมการเห็นชัดเจนว่ามีข้อท้วงติงหรือมีปัญหาอุปสรรคที่แก้ไขไม่ได้ก็ควรเสนอให้รัฐมนตรีคลังเป็นผู้สั่งการและเป็นผู้รับผิดชอบไปแต่ผู้เดียว