ข่าว

โฆษกรัฐบาล เผย ‘นายกฯ’ เดินหน้า ‘นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’

โฆษกรัฐบาล เผย ‘นายกฯ’ เดินหน้า ‘นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’

10 ต.ค. 2566

โฆษกรัฐบาล เผย ‘นายกฯ’ เดินหน้า ‘นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ ชี้ผลสำรวจ ม.หอการค้าไทย พบคนไทยร้อยละ 76.4 ต้องการใช้ รัฐบาลพร้อมนำข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายมาพิจารณาเพิ่ม เชื่อ กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เกิดประโยชน์วงกว้าง เพิ่มโอกาสคนรายได้น้อยลืมตาอ้าปาก

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันเดินหน้า “นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท” เชื่อมั่นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสให้กับภาคประชาชนและครัวเรือน เป็นการกระตุกกำลังทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล 

 

 

ทั้งนี้ ขอบคุณหน่วยงานต่างๆที่เห็นแก่ความตั้งใจจริงของรัฐบาล และต้องการช่วยเหลือประชาชน จึงออกมาสนับสนุนแนวความคิดนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลจะนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ มาพิจารณาเพื่อเป็นโอกาสให้ได้ปรับปรุงแนวทางในการดำเนินนโยบายให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประชาชนกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 1,280 คนจากทั่วประเทศ ถึงทัศนะต่อนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท พบว่ามีสัดส่วนถึง 76.4% ที่จะใช้เงินดิจิทัล โดยอยากใช้ซื้อสินค้าในครัวเรือนมากที่สุด 24.5% รองลงมาคือใช้ซื้ออาหาร 21.0% ในขณะเดียวกัน มีกลุ่มตัวอย่าง 48.3% เชื่อว่าเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้มาก และ 35.6% เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ปานกลาง

 

 

โดยทางคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล จะนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาพิจารณาการประชุมในวันที่ 12 ตุลาคม 2566 นี้ จากนั้นจะนำผลสรุปเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 24 ตุลาคม 2566

 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลตั้งใจให้การดำเนิน "นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท" ให้เศรษฐกิจปีหน้าเติบโต 5% เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เกิดการจ้างงาน และการลงทุน รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ เพิ่มขึ้น และสุดท้ายสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้ 

 

 

ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ 'ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ จะมาจากหลายแหล่ง ทั้งการนำเงินงบประมาณส่วนเกินจากของหน่วยงานราชการ การใช้เงินตามมาตรา 28 ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 และอื่น ๆ โดยจะมีการดำเนินการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

 

 

“รัฐบาลขอบคุณแนวความคิดเห็น ข้อชี้แนะที่ทุกภาคส่วนเสนอเข้ามา โดยพร้อมนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาปรับปรุงให้เกิดความสมดุล อาทิ เงื่อนไข ข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการให้เป็นนโยบายที่ได้ประโยชน์กับพี่น้องคนไทยมากที่สุด เกิดประโยชน์ในวงกว้าง เป็นการกระตุ้นทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อเพิ่มโอกาสให้พี่น้องคนไทยที่มีรายได้น้อยลืมตาอ้าปากได้”โฆษกรัฐบาล กล่าว