รู้จัก 'ชีวภัณฑ์' ควบคุมโรค-แมลง ใช้อย่างไรให้ได้ผล
"ชีวภัณฑ์" เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ควบคุมศัตรูพืชที่ผลิตและพัฒนามาจากสิ่งมีชีวิต นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี
นางเสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึง "ชีวภัณฑ์" เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ควบคุมศัตรูพืชที่ผลิตและพัฒนามาจากสิ่งมีชีวิต นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี เป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติที่เรียกว่า ศัตรูธรรมชาติ (natural enemies) ได้แก่ จุลินทรีย์ ( Pathogens) ตัวห้ำ (Predators) และตัวเบียน (Parasites) นำมาใช้ในการควบคุมศัตรูพืช ซึ่งข้อดีในการใช้ศัตรูธรรมชาติจะมีความเฉพาะเจาะจงกับเหยื่ออาศัย ก็คือจะทำลายเฉพาะศัตรูเป้าหมายเท่านั้น ดังนั้นจะมีความปลอดภัยต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ไม่มีพิษตกค้าง ทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยจากสารพิษ
กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช มีงานวิจัยในเรื่องชีวภัณฑ์ต่างๆ มากมาย มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องการผลิตและการใช้ "ชีวภัณฑ์" ให้หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรที่อยู่ในส่วนภูมิภาค คือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ซึ่งมี 8 เขต และศูนย์เครือข่ายซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ชีวภัณฑ์ในกลุ่มจุลินทรีย์, ชีวภัณฑ์ในกลุ่มตัวห้ำ และ ชีวภัณฑ์ในกลุ่มตัวเบียน
ชีวภัณฑ์ในกลุ่มจุลินทรีย์ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ จุลินทรีย์ที่ใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช อาทิ ไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง ควบคุมด้วงหมัดผัก และด้วงงวงมันเทศ, หรือเชื้อแบคทีเรียบีที จะใช้ควบคุมหนอนศัตรูพืช หรือเชื้อไวรัสเอ็นพีวี ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับบีที แต่ว่ามีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า กรมวิชาการเกษตรแนะนำไวรัสเอ็นพีวี ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ DOA BIO V1 ใช้ควบคุมหนอนกระทู้หอม, DOA BIO V2 ใช้ควบคุมหนอนเจาะสมอฝ้าย, DOA BIO V3 ใช้ควบคุมหนอนกระทู้ผัก และจะมีเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม ใช้ควบคุมหนอนด้วงแรด ศัตรูของมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน
นางเสาวนิตย์ กล่าวว่า ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นจุลินทรีย์ที่ใช้ควบคุมโรคพืช ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียบีเอส (Bacillus subtilis) ซึ่งมี 3 ชนิด คือ Bs-DOA 24 ใช้ควบคุมโรคเหี่ยว ในพืชตระกูลขิง, BS-DOA 20W1 ใช้ควบคุมโรคใบจุด ในพืชตระกูลกระหล่ำ, Bs-DOA 20W33 ใช้ควบคุมโรคแอนแทรคโนส หรือโรคกุ้งแห้งในพริก
นอกจากนี้ยังมี "เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี" ใช้ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมใน พริก ฝรั่ง มันฝรั่ง และโรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียน เชื้อราไตรโคเดอร์มา ใช้ควบคุมโรคตายพรายของกล้วย นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์ที่ใช้ควบคุมสัตว์ศัตรูพืช ได้แก่ เหยื่อโปรโตซัวกำจัดหนู ใช้ในการกำจัดหนูศัตรูพืชที่อยู่ในแปลงปลูกพืช หรืออยู่ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์
ส่วนของกลุ่มตัวห้ำ (Predators) ก็คือ แมลงกินแมลง ได้แก่ มวนพิฆาต ใช้ควบคุมหนอนศัตรูพืชได้หลายชนิด มวนตัวห้ำ ทั้งระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัย สามารถกิน เพลี้ยไฟ ไรแดง แมลงหวี่ขาว แนะนำให้ปล่อยในโรงเรือนที่ปลูกเมล่อน และมะเขือเทศ และแมลงหางหนีบ ควบคุมพวกไข่และหนอนผีเสื้อ ขนาดเล็ก, แมลงช้างปีกใส เป็นตัวห้ำ เฉพาะตัวอ่อนเท่านั้น ใช้ควบคุมแมลงปากดูดขนาดเล็ก เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ ไรแดง และ เพลี้ยหอย เป็นต้น
สำหรับกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่ม ตัวเบียน (Parasites) จะเป็นกลุ่มค่อนข้างเฉพาะเจาะจงต่อเหยื่ออาศัย เนื่องจากในช่วงที่เป็นตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ในเหยื่อโดยตรง เพราะฉะนั้นจะมีความเฉพาะเจาะจงค่อนข้างสูง ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร ที่แนะนำมีแตนเบียนหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว, แตนเบียนดักแด้แมลงดำหนามมะพร้าว ใช้ควบคุมแมลงดำหนามมะพร้าว ในระยะที่เป็นตัวหนอนและดักแด้ ซึ่งแมลงดำหนาม กินส่วนใบอ่อนของมะพร้าว และจะมีแตนเบียนหนอนหัวดำมะพร้าว ควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว ซึ่งกินใบแก่ของมะพร้าว และมีแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา ควบคุมไข่ของหนอนผีเสื้อต่างๆ
ปัจจุบันมีเอกชนที่สนใจนำองค์ความรู้ไปผลิตใช้ในเชิงการค้า มี 2 ชนิดคือ ชีวภัณฑ์บาซิลลัส ซับทิลิส BS-DOA 24 ที่ใช้ควบคุมโรคเหี่ยวในพืชตระกูลขิง และ ชีวภัณฑ์ราเขียวเมตาไรเซียม DOA-M5 ควบคุมด้วงแรด เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของมะพร้าว และปาล์มน้ำมัน
ผลงานชีวภัณฑ์ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเป็นแนวทางสำคัญที่ตอบสนองต่อนโยบายให้เกษตรกรลด ละ เลิก การใช้สารเคมีโดยปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรที่ปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์