เปิด 25 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทั่วไทย
เปิด 25 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทั่วไทย มุ่งเน้นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจได้มาสัมผัสกับการท่องเที่ยวควบคู่กับการได้เรียนรู้การเกษตรด้านพืช ที่สามารถนำไปปรับใช้เป็นประโยชน์ได้ รวมทั้งเรียนรู้วิถีการดำรงชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนพื้นถิ่น
ตามมติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2543 อนุมัติให้มีการดำเนินโครงการไทยเที่ยวไทยและท่องเที่ยวเชิงเกษตร ภายใต้มาตรการส่งเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจและส่งเสริมการสร้างรากฐานการพัฒนาประเทศระยะยาว กรมวิชาการเกษตร ได้คัดเลือกหน่วยงานในส่วนภูมิภาคที่มีสถานที่สวยงาม มีกิจกรรมด้านการเกษตรที่น่าสนใจ เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร เปิดให้บริการประชาชนเข้าชมศูนย์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร จำนวน 25 แห่ง ที่กระจายอยู่ในหน่วยงานส่วนภูมิภาคทั่วประเทศของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ภาคเหนือ 12 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง ภาคใต้ 6 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง และภาคกลาง 1 แห่ง
ได้แก่ 1.ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย 2.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย (วาวี) 3.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ (ฝาง) 4.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน 5.ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) 6.ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง) 7.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ 8.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก (ดอยมูเซอ) 9.ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย (ท่าชัย) 10.ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย (ภูเรือ) 11.ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ (เขาค้อ) 12.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย 13.ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี
14.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี 15.ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร 16.ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี 17.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ (ยางในช่อง) 18.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต 19.ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ 20.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี 21.ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง 22.สถานีทดลองพืชสวนร่มเกล้า (สวพ.2) พิษณุโลก 23.ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา 24.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย และ 25.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี
โดยมีวัตถุประสงค์ให้ศูนย์วิจัยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตพืชและรวบรวมความหลากหลายของพันธุกรรมพืชสวน ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวธรรมชาติ และจัดทำกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสำคัญ
เช่น กิจกรรมส่งความสุขในเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ โดยจะมีบริการจุดแวะพักรถ การบริการเครื่องดื่ม แจกพันธุ์ไม้พร้อมทั้งให้ความรู้ด้านพืช ให้กับประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวและประชาชนที่เดินทางในช่วงเทศกาล และกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวประจำปี
เช่น กิจกรรมชิมทุเรียนโบราณ ทุเรียนพื้นเมือง เทศกาลชมดอกนางพญาเสือโคร่ง เทศกาลชิมชาและกาแฟดอยวาวี และชม ช้อปผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาล
เช่น พืชผักและผลไม้เมืองหนาว เป็นต้น รวมทั้งยังมีการให้บริการที่พัก และห้องประชุมสำหรับการจัดอบรมสัมมนาด้วย ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและใช้บริการไม่น้อยกว่าแสนคนในแต่ละปี เช่น ในปีงบประมาณ 2560 มีจำนวนนักท่องเที่ยว จำนวน 201,528 ราย , ปี 2561 จำนวน 254,561 ราย,ปี 2562 จำนวน 346,127 ราย, ปี 2563 จำนวน 250,065 ราย ,ปี 2564 จำนวน 184,685 ราย และปี 2565 จำนวน 171,917 ราย
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร จะมุ่งเน้นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจได้มาสัมผัสกับการท่องเที่ยวควบคู่กับการได้เรียนรู้การเกษตรด้านพืช ที่สามารถนำไปปรับใช้เป็นประโยชน์ได้ รวมทั้งเรียนรู้วิถีการดำรงชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนพื้นถิ่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชุมในพื้นที่ด้วย รวมทั้งส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์รักษาเห็นคุณค่าของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการท่องเที่ยวที่ไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน