ป.ป.ช. ผุดคณะกรรมการศึกษา' ดิจิทัลวอลเล็ต' -ให้ข้อเสนอรัฐเน้นรอบคอบ
ว่าด้วยโครงการร้อนแจกเงิน 10,000 บาท " ดิจิทัลวอลเล็ต" ส่งให้ " ป.ป.ช." แต่งตั้ง คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็น เลขาธิการ ป.ป.ช. ย้ำ หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ คือศึกษาเสนอแนะและให้ข้อแนะนำ ไม่ใช่การระงับยับยั้งไม่ให้ทำโครงการ
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช ) เปิดเผยว่า ป.ป.ช. ได้เห็นชอบแต่งตั้ง คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต โดยภารกิจของคณะกรรมการชุดนี้ คือศึกษาเสนอแนะและให้ข้อแนะนำ ไม่ใช่การระงับยับยั้งไม่ให้ทำโครงการ เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลหาเสียงไว้ อีกทั้งรัฐบาลมีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการเรื่องนี้ได้
เพราะฉะนั้นในหลักการที่ ป.ป.ช. พิจารณาก็คือ เนื่องจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ หรืออาจจะมีการส่อไปในทางทุจริต จึงตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและวางแนวทางป้องกันไว้ก่อน ซึ่งหากขับเคลื่อนไปแล้วอาจไม่มีปัญหาก็ได้ แต่ถ้ามีเกิดจากช่องทางไหนก็ต้องดู ในรายละเอียดต้องมองว่า เมื่อมีนโยบายแล้ว ต้องมีแผนงานโครงการในการปฎิบัติตามนโยบาย จะทำอย่างไรตามแผนงาน วัตถุประสงค์ เป้าหมาย อนุมัติวงเงินงบประมาณเท่าไร และการดำเนินการ รวมถึงเอาเงินไปจ่ายประชาชนอย่างไร ผ่านอะไร ประชาชนจะได้รับเงินหรือไม่
ถ้าคำสั่งตั้งคณะกรรมการแล้วเสร็จ ก็จะมีการนัดประชุมในอีก 1-2 สัปดาห์ เพื่อวางกรอบการดำเนินการ สำหรับการพิจารณาตัวคณะกรรมการที่เข้าร่วมนั้น มีผู้เชี่ยวชาญหลากหลาย บางคนเป็นที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญที่ประจำอยู่ ป.ป.ช. แต่ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าหน่วยหรือผู้แทนของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเป็นองค์กรอิสระ ก็มีกกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน สตง. ถ้าเป็นหน่วยงานรัฐ ก็มีกระทรวงการคลังที่เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ซึ่งที่ปรากฏตามข่าวก็ยืนยันว่ามีบุคคลเหล่านี้ร่วมด้วย
"ป.ป.ช. ศึกษาโครงการของรัฐบาลมาหลายโครงการแล้ว และมีข้อเสนอแนะไปให้รัฐบาล ซึ่งก็รับทราบรับฟัง และปฏิบัติตา ในฝั่ง ป.ป.ช. ก็จะศึกษามาตรการตามแนวทางที่เคยปฏิบัติ และในส่วนของรัฐบาลก็คิดว่า คงไม่มีใครอยากจะเดินซ้ำรอย เพราะเขารู้อยู่แล้ว และยิ่งมีคนจับจ้องอย่างนี้ ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรีก็คงไม่อยากจะเสี่ยง โดยเฉพาะท่านเป็นนักธุรกิจ มันมีตัวอย่างเยอะแยะไปหมด แต่เชื่อว่าเจตนาของนายกฯ คือต้องการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เคยประกาศหาเสียงไว้มากกว่า ถ้าเป็นเรื่องที่ดีก็สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพียงแต่ช่วยระมัดระวังบ้าง อาจจะมีรอยรั่วต่างๆ รับฟังกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แต่การตัดสินใจเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯ โดยตรง ย้้ำว่าการตั้งคณะกรรมการศึกษา ไม่ใช่จ้องจับผิด มันเป็นหน้าที่และอำนาจโดยตรงที่กฎหมายกำหนด เป็นการใช้อำนาจตามที่ พ.ร.บ. ป.ป.ช. กำหนดบทบาทเอาไว้ " เลขาธิการปปช. ระบุ