กรมวิชาการเกษตร พัฒนาเครื่องหมายสนิปส์ คัดเลือกพันธุ์ 'ข้าวโพดข้าวเหนียว'
ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นและศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท กรมวิชาการเกษตร จึงได้ร่วมมือกันทำงานวิจัย การพัฒนาเครื่องหมายสนิปส์จากยีน Dull ได้อย่างแม่นยำ
กรมวิชาการเกษตร พัฒนาเครื่องหมายสนิปส์จากยีน Dull คัดเลือกพันธุ์ “ข้าวโพดข้าวเหนียว” อย่างแม่นยำ ในปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจอาหารสุขภาพมากขึ้น จึงนิยมบริโภคข้าวโพดฝักสดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดข้าวเหนียว ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี เมล็ดข้าวโพดข้าวเหนียวมีความเหนียวนุ่มเป็นคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัว จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว การใช้ประสาทสัมผัสโดยเฉพาะด้านการชิมนั้น ไม่สามารถบ่งชี้ความแตกต่างของลักษณะเหนียวนุ่มได้อย่างชัดเจน
ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นและศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท กรมวิชาการเกษตร จึงได้ร่วมมือกันทำงานวิจัย “การพัฒนาเครื่องหมายสนิปส์จากยีน Dull โดยใช้ตำแหน่ง N130 ที่มีการกลายพันธุ์ ทำให้หยุดการทำงานของเอนไซม์ SSIIIa และการทำงานของเอนไซม์ SBElla และ SSII จะลดลง ส่งผลต่อการลดลงของความยาวและจำนวนการกระจายตัวของสายโซ่กิ่งก้านของอะไมโลเพคติน ดังนั้นจึงมีผลต่อโครงสร้างของอะไมโลเพคติน และลักษณะความเหนียวนุ่มของเนื้อเมล็ดข้าวโพดข้าวเหนียว จึงได้นำตำแหน่งที่กลายพันธุ์ดังกล่าวมาพัฒนาเป็นเครื่องหมาย สนิปส์ เพื่อช่วยคัดเลือกข้าวโพดข้าวเหนียว
ดังนี้ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมพันธุ์การค้าและข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมที่มีรูปแบบจีโนไทป์ GG และ GT เนื้อเมล็ดข้าวโพดข้าวเหนียวมีลักษณะเหนียวนุ่มที่ดีเหมาะสมต่อการบริโภค เช่น ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 2 ซึ่งได้รับการรับรองพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตรแล้ว เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ส่วนสายพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวที่มีรูปแบบจีโนไทป์ TT เนื้อเมล็ดข้าวโพดข้าวเหนียวมีลักษณะเหนียวนุ่มที่ไม่เหมาะสมต่อการบริโภค
เครื่องหมายสนิปส์ที่พัฒนาขึ้นมาได้นี้ สามารถนำมาใช้ในการช่วยคัดเลือกข้าวโพดข้าวเหนียวสายพันธุ์แท้ที่เหมาะสำหรับเป็นพ่อแม่ของคู่ผสม และใช้คัดเลือกสายพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวที่มีเนื้อเมล็ดเหนียวนุ่มได้ตั้งแต่รุ่นแรกๆ ของการคัดเลือกที่มีสายพันธุ์ลูกผสมจำนวนมาก ซึ่งสามารถปฏิบัติการคัดเลือกได้ตั้งแต่ระยะการงอก ทำให้ช่วยลดระยะเวลา พื้นที่ปลูก และแรงงาน นอกจากนี้ยังใช้ติดตามรูปแบบจีโนไทป์ได้ทุกชั่วรุ่นของข้าวโพดข้าวเหนียว ดังนั้นการใช้เครื่องหมายสนิปส์นี้จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยคัดเลือกข้าวโพดข้าวเหนียวในโครงการปรับปรุงพันธุ์ได้เป็นอย่างดีและแม่นยำ