สูตรคำนวณ 'ค่าแรงขั้นต่ำ' พิพัฒน์ รอ สภาพัฒน์ ธปท.เคาะ เงินเฟ้อ
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เผยสูตรคำนวณ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ รอ สภาพัฒน์ ธปท.เคาะ เงินเฟ้อ การเติบโตของเศรษฐกิจ คาดมีเฮ ก่อนปีใหม่ พร้อมเปิดสถิติกระทรวงแรงงาน ปรับค่าแรงย้อนหลังในรอบ 10 ปี มีปรับเพิ่มกี่บาท
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.แรงงาน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า การปรับ “ค่าแรงขั้นต่ำ” ในปี2566 นี้นั้น มีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน แต่อาจไม่ใช่ 400 บาททั่วประเทศ เพราะฐานของค่าแรงขั้นต่ำแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน
โดยจะพิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรอข้อมูลของแต่ละจังหวัด เพื่อประชุมหารือที่กระทรวงแรงงานในวันที่ 17 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จากนั้นจึงจะเป็นการหารือของคณะกรรมการค่าจ้างในรูปแบบไตรภาคี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางเดือนธันวาคมนี้
ทั้งนี้ ต้องสอบถามไปยังธนาคารแห่งประเทศและสภาพัฒน์ฯ ด้วยว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยปี 2566 คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อเอามาคำนวณได้
เรายังยืนยันว่า จะมีการ "ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ" แน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในภาพรวมเริ่มมีการฟื้นตัว ทั้งนี้ ต้องระวังในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ต้นทุนและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น โดยอาจไม่ใช่ตัวเลข 400 บาททั่วประเทศเนื่องจากฐานค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะเป็นไปตามกฎหมายแรงงานในมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และสภาพเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม และการเจรจาหารือกันในระบบไตรภาคีด้วย ซึ่งการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ นั้น ได้มีการใช้สูตรการคำนวณประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยตั้งแต่ปี 2560 ส่งผลให้ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดมีอัตราที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
การปรับ “ค่าแรงขั้นต่ำ” เราจะพิจารณาให้รอบด้านครบทุกมิติ เพื่อให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานทุกภาคส่วนอยู่ได้ให้มากที่สุด เพราะจุดมุ่งหมายของกระทรวงแรงงานและรัฐบาล คือ เราให้ความสำคัญในการทำให้ประชาชนทุกกลุ่ม มีรายได้ที่เป็นธรรม และเหมาะสม สามารถพัฒนาชีวิตของตนเองได้ มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในขณะเดียวกันไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
เปิดสถิติ ค่าแรงขั้นต่ำ ย้อนหลัง 10 ปี
ทั้งนี้ จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2565 ที่ผ่านมา พบว่า กระทรวงแรงงาน มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ดังนี้
1. ปี 2556 ทุกจังหวัดมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 300 บาท
2. ปี 2560 จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 310 บาท จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดคือ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ระนอง และสิงห์บุรี มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 300 บาท
3. ปี 2561 จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด คือ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 330 บาทจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดคือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 308 บาท
4. ปี 2563 จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด คือ ชลบุรี และภูเก็ต มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 336 บาท จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดคือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 313 บาท
5. ปี 2565 จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 354 บาท จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดคือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 328 บาท