ข่าว

เตือน ‘ปั๊มน้ำมัน’ อ้างน้ำมันหมด ทั้งที่มีสต๊อกเหลือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

เตือน ‘ปั๊มน้ำมัน’ อ้างน้ำมันหมด ทั้งที่มีสต๊อกเหลือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

09 พ.ย. 2566

พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษก รมว.พลังงาน เตือนปั๊มน้ำมันอ้างน้ำมันหมด ทั้งที่มีสต๊อกคงเหลือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ย้ำราคาลด เพราะรัฐบาลลดภาษีให้ กำไรบริษัทยังคงเดิม อย่าเอาไปเป็นข้ออ้างปฏิเสธการจำหน่าย

ต่อกระแสเรียกร้องขอความเป็นธรรมของประชาชนผู้ใช้น้ำมัน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงการให้บริการของ “ปั๊มน้ำมัน” หลายแห่ง ได้ปฏิเสธจำหน่ายน้ำมันอ้างหมดนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้มีความชัดเจนจากกระทรวงพลังงาน ซึ่งกำกับดูแลในเรื่องนี้

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า เมื่อราคาน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ปรับลดราคาน้ำมัน เนื่องจากการลดภาษีสรรพสามิตลง 1-2.50 บาท/ลิตร อย่างเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ทำให้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามาก ว่า เกิดสินค้าน้ำมันหมดในหลาย "ปั๊มน้ำมัน" ทั่วประเทศ เกิดเป็นประเด็นคำถามกับผู้ใช้น้ำมันว่า เกิดจากหมดจริง หรือหมดเพราะเกิดการกักตุนสินค้า

 

 

เท่าที่ตรวจสอบ สถานีบริการหลายแห่งมีผู้ใช้จำนวนมากมาเติม ทำให้น้ำมันหมดจริง และหลายแห่งติดป้ายน้ำมันหมดตั้งแต่เช้า ทำให้มีข้อสงสัยว่าอาจเป็นพฤติกรรมการกักตุนน้ำมัน เฉพาะแค่บางชนิดที่ลดราคาเยอะ อย่างโซฮอล์ 91

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน

 

 

กระทรวงพลังงาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเข้าตรวจสอบหลายสถานีที่มีเรื่องร้องเรียน เพราะประชาชนผู้ใช้น้ำมันได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย

 

สามารถแจ้งกรมธุรกิจพลังงาน (0-2794-4555) หรือ กองตรวจราชการ กระทรวงพลังงาน (02-140-6080) เพื่อเข้าไปตรวจสอบปั๊มที่เกิดเหตุ โดยแจ้งรายละเอียดชื่อสถานีบริการ และสถานที่ตั้ง เพื่อประสานกับ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่มีกฎหมายเฉพาะดูแล ซึ่งผู้ประกอบการที่ปฏิเสธการจำหน่ายในขณะที่น้ำมันยังมีในสต๊อก จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

 

 

นายพงศ์พล ย้ำว่า การปรับลดราคาน้ำมันแบบนี้เป็นการชดเชยจากภาครัฐ ไม่ได้กระทบกำไรในส่วนผู้ประกอบการ จะนำมากล่าวอ้างปฏิเสธการจำหน่ายไม่ได้

 

เตือน ‘ปั๊มน้ำมัน’ อ้างน้ำมันหมด ทั้งที่มีสต๊อกเหลือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

 

มีรายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งว่า ก่อนจะออกมาตรการรัฐบาลเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ด้วยการลดราคาน้ำมันก่อนวันที่ 7 พ.ย.2566 ปรากฏว่า พบประชาชนชะลอการเติมน้ำมันลงถึงร้อยละ 40-60  และเมื่อถึงวันที่ลดราคาน้ำมันลง 2.50 บาท และลดอีกครั้ง 60 สตางค์ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 ทำให้ประชาชนออกมาเติมน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บาง "ปั๊มน้ำมัน" ไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้ทั้งหมด จึงเกิดปัญหาน้ำมันหมด แต่น้ำมันในระบบไม่หมด