เศรษฐา นำคณะประชุม 'ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค' เวที สหรัฐ - ผลักดัน 'แลนด์บริดจ์'
นายกรัฐมนตรี เตรียมนำคณะเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ระหว่าง 12 - 19 พ.ย. ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยผู้นำไทย จะนำ 5 ประเด็นเข้าหารือ เพื่อการผลักดันในเวทีนานาชาติ จับตาการเชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียผ่านโครงการ "แลนด์บริดจ์"
นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันอาทิตย์ที่ 12 พ.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง 12 - 19 พ.ย. ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา การเข้าร่วมการประชุมฯ ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นโอกาสเพื่อนำเสนอนโยบาย สร้างความเชื่อมั่น รวมถึงสานต่อผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ในปี 2565 ที่ผ่านมา โดยยังจะเป็นโอกาสให้ได้พบหารือ เพื่อสร้างความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจเอเปค และภาคเอกชนเอเปค โดยประเด็นที่ไทยผลักดัน
-
การค้าการลงทุน ย้ำความมุ่งมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีที่มีองค์การการค้าโลกเป็นแกนกลาง
-
ความเชื่อมโยง ผ่านการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาค เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียผ่านโครงการ แลนด์บรดิจ: Landbridge ( สะพานเศรษฐกิจ)
-
ความยั่งยืน ผลักดันการสานต่อเป้าหมายกรุงเทพฯ
-
เศรษฐกิจดิจิทัล
-
ความครอบคลุมและความเท่าเทียม
" นายกรัฐมนตรีจะมีภารกิจในกรอบเอเปค ประกอบด้วย การกล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit) การหารือในช่วงอาหารกลางวันและการหารืออย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับแขกพิเศษของประธาน การหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในรูปแบบ Retreat รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีจะร่วมกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนในไทยในการเดินทางครั้งนี้ด้วย " โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
.
อนึ่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค
.
ปัจจุบันเอเปคมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย ไต้หวัน ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม
.
เอเปค ดำเนินงานโดยยึดหลักฉันทามติ ความเท่าเทียมกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน ของประเทศสมาชิก ทั้งนี้ ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคปี 2564 ได้รับรองวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 (Putrajaya Vision 2040) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของเอเปคในระยะข้างหน้า โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ (1) การค้าและการลงทุนเสรี (2) นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และ (3) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุม
.
หมายเหตุภาพประกอบ [ แฟ้มภาพ ] ขอขอบคุณภาพจาก thaigov
.