ศิริกัญญา เขย่า ดิจิทัลวอลเล็ต จุดจบแบบ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ผิดกฎหมาย
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินหน้าชน "ดิจิทัลวอลเล็ต" นโยบายสุดร้อนแรงของรัฐบาล ระบุชัดที่เคยเห็นด้วย เพราะในขณะนั้นหลักการของแผนงานเป็นอีกแบบ ต่างจากนโยบายที่รัฐบาลประกาศตัว ระบุชัดที่ต้องการคำตอบคือ ทำไมจึงเดินหน้าทั้งที่เสี่ยง ขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า การตั้งข้อสังเกตุของ นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุว่าตน เคยเห็นด้วยกับโครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต" แต่ตอนนี้กลับมาคัดค้าน การเห็นด้วยก็มีหลายระดับ และเวลานี้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตได้เปลี่ยนรายละเอียด จากที่จะใช้เงินในงบประมาณ มาเป็นออก พ.ร.บ.กู้เงิน และจากเดิมแจกถ้วนหน้า กลายเป็นจำกัดคนมีรายได้สูง
โครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต" เคยมีการพูดคุยเรื่องนี้กันจริง เนื่องจากเมื่อครั้งเป็นพรรค ที่จะร่วมรัฐบาลกัน พรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้น เคยวางแผนสำหรับงบประมาณปี 2566 แต่เงินที่มีไม่พอที่จะทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากแบ่งออกไปแล้วจะเหลืองบประมาณเพียงพรรคการเมืองละ 4 -5 แสนล้านบาท ในเมื่อไม่สามารถนำงบประมาณไปใช้ได้ทั้งก้อน จึงต้องปรับลดงบประมาณลง ก็เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา จึงขอให้อย่าบิดประเด็นไปมากกว่านี้
"จนถึงตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีคำตอบใดๆ ออกมาว่าเหตุใดจึงยังเดินหน้าโครงการต่อ ในเมื่อการออก พ.ร.บ.เงินกู้ อาจขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ทำไมทางพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจึงคิดทำต่อ ทุกวันนี้ยังไม่ได้รับเหตุผลใดๆ กลับมา เพียงมีการขุดอดีตไล่ความชอบธรรมว่าตนเองเคยเห็นด้วย ทุกครั้งที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ ไม่เคยพูดคัดค้านแม้แต่ครั้งเดียว เพียงแต่ถามว่างบประมาณมาจากไหน ยังไม่เริ่มคัดค้านจริงๆ จังๆ เลยสักครั้ง ขอให้รัฐบาลช่วยตอบให้ตรงประเด็นว่าจะไม่ผิดกฎหมายได้อย่างไร เพียงเปิดความเห็นของคณะกรรมการ กฤษฎีกา เปิดเผยรายงานการประชุมทั้งในชั้นคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ออกมา ว่าไม่ผิดกฎหมายอย่างไรก็จบแล้ว ดิฉันก็จะเป็นคนหน้าแตก"
.
สับสนท่าทีผู้ว่าธปท. ที่ถูกอ้างว่าเห็นด้วยกับโครงการ
.
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่อ้างว่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอให้ออก พ.ร.บ.เงินกู้ ด้วย ยิ่งต้องไปดูรายงานของคณะกรรมการชุดใหญ่ว่ามีมติอย่างไร ถึงให้ออก พ.ร.บ.เงินกู้ เพราะตนเองเชื่อว่าผู้ว่าธปท. จะไม่เสนอแนวทางนี้ เพราะทุกครั้งก็คัดค้านมาโดยตลอด ส่วนกรณีที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่ากระบวนการถูกต้อง เพราะการออก พ.ร.บ.ต้องเข้าสภา เรื่องนี้ต้องตรวจสอบก่อนว่าถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร มีอีกหลายฉบับที่ต้องพิจารณา
ขณะเดียวกันเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการกระทรวงการคลัง ไม่มีใครท้วงติงรัฐบาลเลยหรือ จะถือว่าทำผิดกฎหมายกันหมด หากนโยบายนี้ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และใช้กลไกเสียงข้างมากให้ผ่านความเห็นชอบไปได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นพรรคก้าวไกล ก็คงต้องยอมรับความจริง
.
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เแถลงข่าวโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ณ ทำเนียบรัฐบาล 10 พ .ย. ที่ผ่านมา
.
.
ตั้งข้อสงสัยรัฐอ้างจะชดใช้เงินกู้ภายใน 4 ปี
.
"นายกรัฐมนตรีพูดว่าจะชดใช้เงินกู้ให้หมดภายใน 4 ปี ปีแรกมาแล้วแสนกว่าล้านบาท ดอกเบี้ยอีกหมื่นล้าน มาแน่นอน ในการพิจารณางบประมาณปี 2568 ดิฉันคิดว่าการใช้คืนหนี้สูงมาก มีทั้งดอกเบี้ยเดิมและดอกเบี้ยใหม่ ภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้ 20% ก็ต้องไปใช้หนี้ ทำให้จัดงบประมาณปี 2568 ได้ยากลำบาก รวมถึงรายได้ที่คิดว่าจะมาจากดิจิทัลวอลเล็ตก็จะไม่ทัน ประชาชนเดือดร้อนแน่ๆ"
.
เชื่อที่สุดผิดกฏหมาย ลงเอยแท้ง
.
มีข้อที่น่าสนใจว่า กรณีดังกล่าวกับ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าผิดกฎหมาย รัฐบาลปัจจุบันจึงไม่สามารถอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลปี 2557 ก็เป็นกรณีแบบเดียวกัน ที่ผ่านมายังไม่มีการถกเถียงกันเลยว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร นายกรัฐมนตรีก็เพียงยกตัวเลข GDP ย้อนหลัง 10 ปี ขึ้นมาระบุว่าเป็นปัญหาเรื้อรังเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการระยะสั้น
"เรายังรออยู่ แต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ มีแต่บอกว่ารักประชาชน บริสุทธิ์ใจ มุ่งมั่น หรืออ้างว่าดิฉันเคยเห็นด้วย ทั้งหมดนี้ไม่ได้ช่วยอธิบายใดๆ ว่าการออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ถูกกฎหมายอย่างไร การกู้เงินในระดับนี้มีปัญหาแน่ๆ เพราะหนี้สาธารณะแน่นอนว่ายังไม่ถึงกรอบที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคย ขยายไว้ที่ 70% ของ GDP แต่ที่ไม่รอดแน่คือภาระดอกเบี้ยต่องบประมาณ แต่เป็นสิ่งที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะสถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง ที่จะจัดอันดับ เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะต้องชี้แจง งบประมาณ ปีแรกจะต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยซึ่งเกิน 10% ของงบประมาณแผ่นดินและถ้าสุดท้ายพ.ร.บ. นี้ ผ่านสภาและบังคับใช้ได้จริงและดิจิทัลวอลเล็ต เกิดขึ้นจริง"
.
ซัดรัฐบาลอย่าบิดเบือน- อย่าใช้ความรู้สึก
.
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่รัฐบาลพยายามบอกว่าประเทศกำลังมีวิกฤตนั้นเห็นว่า เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นในระยะยาว เป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในการแก้ไขปัญหาด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้เลย นโยบายนี้ถูกคิดขึ้นมาตั้งแต่ มี.ค. - เม.ย. ปีนี้จะถูกนำไปใช้จริงปีหน้า สรุปแล้ววิกฤตเกิดขึ้นตอนไหนกันแน่ แล้วเร่งด่วนถึงขั้นที่ได้ 1 ปีเร่งด่วนหรือไม่ ดังนั้นการเลือกใช้โดยการออกร่าง พ.ร.บ. ยิ่งต้องใช้เวลาในสภา จึงถามว่าความจำเป็นเร่งด่วนอยู่ตรงไหน และขออย่าปล่อยให้รัฐบาลบิดเบือน ขอร้องว่าอย่าใช้ความรู้สึกในการบริหารประเทศต้องใช้ตัวเลขข้อมูลข้อเท็จจริง ในการบริหารประเทศว่าสรุปแล้วปัญหาคืออะไร ที่บอกว่าเกิดวิกฤตหนักสาหัสขอดูตัวเลข กำลังพูดถึงตัวเลขไหนจะได้คลายกังวลว่าใช้เครื่องมือที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาประเทศ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุ