ข่าว

รมช.คลัง เชียร์องค์กรอิสระตรวจสอบ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ย้ำรัฐฯรับฟังข้อห่วงใย

รมช.คลัง เชียร์องค์กรอิสระตรวจสอบ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ย้ำรัฐฯรับฟังข้อห่วงใย

15 พ.ย. 2566

รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง สนับสนุนให้องค์กรอิสระเข้ามาทำหน้าที่ในการตรวจสอบ เติมเงิน 10,000 บาท "ดิจิทัลวอลเล็ต" ย้ำเป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้รัฐบาลยิ่งเพิ่มความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ส่วนประเด็นที่ต้องใช้วิธีการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน เป็นเรื่องของกระบวนการทางกฏหมาย

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง   เปิดเผยว่า  โครงการเติมเงิน 10,000  บาท  ผ่าน "ดิจิทัลวอลเล็ต"  ซึ่งมีความเป็นห่วงมาถึงการดำเนินการของรัฐบาล 
เนื่องจากเป็นการออกพ.ร.บ.กู้เงิน   ความห่วงใยดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องน้อมรับ
ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการให้รอบคอบ รัดกุม เป็นไปตามข้อกฎหมาย และเป็นเรื่องที่ดีหากมีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระก่อนที่จะดำเนินการ   การใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 245 ให้องค์กรอิสระมีส่วนในการตรวจสอบนโยบายรัฐบาลนั้น ยินดี

 

 

 

การตรวจสอบเป็นเรื่องดีและพร้อมแล้ว เพราะโครงใหญ่เริ่มชัดเจน ตอบได้ทุกประเด็น ส่วนจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ก็เป็นมุมมองของแต่ละคน ในขณะเดียวกันการชี้แจงเพื่อคลายข้อสงสัย ให้กับองค์กรอิสระที่มีการตั้งทีมขึ้นมาเพื่อตรวจสอบให้รัดกุม ทำให้ไม่ได้อยู่ในความประมาท และย้ำไปถึงดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เมื่อลดข้อกังวล " วันนี้มีการปรับเปลี่ยนในรูปแบบบางประเด็นต่อ " ดิจิทัลวอลเล็ต"  ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อเสนอแนะจากสังคมและนักวิชาการทั้งสิ้น พยายามปรับให้โครงการประสบความสำเร็จสูงสุดและมีความเหมาะสมกับสภาพสังคม" 

 

รมช.คลัง เชียร์องค์กรอิสระตรวจสอบ \'ดิจิทัลวอลเล็ต\' ย้ำรัฐฯรับฟังข้อห่วงใย

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง

 

เขา กล่าวว่า  ที่หลายฝ่ายมองว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่อง  ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในระยะยาวได้นั้น    เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ อย่างแรกคือรัฐบาลมีความเชื่อมั่นด้วยกลไกที่เป็นตัวเงินผ่านระบบดิจิทัล และมีเงื่อนไขกำหนด จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจที่มากกว่าแน่นอน ส่วนการเดินหน้าในเรื่องของพ.ร.บ.กู้เงิน   อาจจะมีข้อสงสัย ถือเป็นมุมมองทางข้อกฎหมายที่แตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับการตีความและรัฐบาลมีหน้าที่ในการชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วน  ที่ต้องออกเป็นพ.ร.บ.กู้เงิน 

 

 

 

 

"ปัญหาเศรษฐกิจรัฐบาลไม่ได้มองมิติเพียงแค่เฉพาะหน้า แต่รัฐบาลมองถึงทิศทางการพัฒนาประเทศที่เรารับทราบกันดีทุกฝ่ายว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ถดถอย ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย  ไม่ได้ดูดีแบบในอดีตที่ผ่านมา  จึงมีความจำเป็นจะต้องพลิกฟื้นปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ให้มีความเข้มแข็งเพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไป"  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  ระบุ

 

 

นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สส.น่าน พรรคเพื่อไทย  ประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน  สภาผู้แทนราษฎร     กล่าวว่า  ในการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ วันนี่  ( พุธที่ 15 ) มีการเชิญนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง มาสอบถามในเรื่องประเด็นดิจิทัลวอลเล็ต   โดยกรรมาธิการฯได้สอบถามประเด็นที่เป็นห่วง ซึ่งทางรัฐมนตรีช่วยฯก็ตอบกระจ่างทุกคำถาม  ส่วนเรื่องพ.ร.บ.เงินกู้ รัฐมนตรีช่วยฯ ก็ได้พูดถึงความจำเป็นเร่งด่วน  ซึ่งทางกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอหลายเรื่องให้รัฐมนตรีช่วยฯเช่นกัน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่เกี่ยวกับของรายละเอียดของโครงการ ไม่ได้มีข้อเสนอทางเลือกของงบที่จะใช้

 

 

 

 

"ตอนนี้การออกพ.ร.บ.เงินกู้เป็นทางเดียว  เนื่องจากมีความโปร่งใส และเพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเต็มที่ในสภา และในชั้นกรรมาธิการก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้ แต่ถ้าหากออกเป็นพ.ร.ก. ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เลย และจะต้องรอสภาเปิดจึงจะนำเข้ามาพิจารณา และจะมีประเด็นอื่นตามมาฉะนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดคือออกพ.ร.บ.   ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะมีการเชิญผู้ที่คัดค้านโครงการดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาสอบถามในช่วงต้นเดือนธันวาคม ต่อไป " 
นายณัฐพงษ์   กล่าว