'อรรถวิชช์' แนะรัฐบาล แก้ 'กฏหมายเครดิตบูโร' ตัดวงจร 'หนี้นอกระบบ'
‘อรรถวิชช์’ แนะรัฐ แก้ ‘กฏหมายเครดิตบูโร’ ตัดวงจร ‘หนี้นอกระบบ’ ย้ำสถานการณ์หนี้ของประชาชนหนักหน่วง หลังโควิด-19 ติดแบล็กลิสต์ 5,000,000 คน ธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้ ชี้ถ้าคนกลุ่มนี้กู้ไม่ได้ ไม่มีทางเลือก ในที่สุดต้องกู้เงินนอกระบบ
ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กทม. ให้สัมภาษณ์ ถึงการแถลงแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลว่า เป็นเรื่องดี แต่ต้องเข้าใจต้นเหตุก่อนว่า คนติดหนี้นอกระบบ ยอมโดนดอกเบี้ยโหดเพราะกู้ในระบบไม่ได้ ติดแบล็กลิสต์ ธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้ ต่อให้จ่ายหนี้หมดแล้ว ก็ยังกู้ใหม่ไม่ได้ เนื่องจากมีประวัติเคยค้างจ่ายยังติดอยู่ในระบบข้อมูลเครดิตถึง 3 ปี
การแก้ไขปัญหา หนี้นอกระบบ ในยุคนี้ ต้องแก้กฎหมายเครดิตบูโรควบคู่ด้วย เช่น ชำระหนี้หมดแล้วต้องลบข้อมูลหนี้บัญชีนั้นทันที หรือกลับมาจ่ายได้ปกติ 6 เดือนติดต่อกัน ก็ควรลบข้อมูลค้างเก่าในบัญชีนั้นเสีย ลูกหนี้จะได้มีโอกาสกู้ในระบบได้บ้าง
“ปัจจุบันสถาบันการเงินแชร์ข้อมูลระหว่างกัน เป็นประวัติลูกค้าดีบ้างเสียบ้างยาวนาน 3 ปี ควรแทนด้วยระบบคะแนนเครดิต Credit Scoring ใครคะแนนเครดิตดีได้ดอกเบี้ยต่ำ ใครคะแนนเครดิตต่ำได้ดอกเบี้ยสูง ถ้าทำแบบนี้ จะเกิดการแข่งขันเรื่องดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ และการรีไฟแนนท์กันไปมาได้ ทำให้ประชาชนมีทางเลือกเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นและเป็นธรรมต่อทั้งลูกค้าและสถาบันการเงิน“ ดร.อรรถวิชช์ กล่าว
“สถานการณ์หนี้ของประชาชน ขณะนี้หนักหน่วงผิดปกติ ก่อนโควิด-19 มีคนกู้ในระบบไม่ได้ ที่เรียกว่าติดแบล็คลิสต์อยู่ 2,000,000 คน ปัจจุบันมีถึง 5,000,000 คน ถ้าคนกลุ่มนี้กู้ไม่ได้ ไม่มีทางเลือก ในที่สุดก็ต้องเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ”
ดร.อรรถวิชช์ แนะแนวทางแก้ไขหนี้นอกระบบว่า ที่สามารถทำได้ คือการเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ ด้วยร่างกฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโร ซึ่งตนเองพร้อมด้วยเครือข่ายนักการเงิน ภาคประชาชน ร่วมกันเสนอ ขณะนี้เราได้เตรียมเว็บไซต์ changeblacklist เหลือเพียงรอประธานสภาฯ อนุมัติ ก็จะรวบรวมรายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้เร็วๆ นี้ จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ร่วมสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ เป็นกลไกแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ