ข่าว

นายกฯ คิกออฟ 'แก้หนี้ทั้งระบบ' สางหนี้ คนไทย 10.3 ล้านคน แบ่ง ลูกหนี้ 4 กลุ่ม

นายกฯ คิกออฟ 'แก้หนี้ทั้งระบบ' สางหนี้ คนไทย 10.3 ล้านคน แบ่ง ลูกหนี้ 4 กลุ่ม

12 ธ.ค. 2566

นายกฯ คิกออฟ 'แก้หนี้ทั้งระบบ' สางหนี้ คนไทย 10.3 ล้านคน ภายในรัฐบาลนี้ แบ่ง ลูกหนี้ 4 กลุ่ม เช็กประวัติ ชำระ ค่าน้ำ ค่าไฟ อนุมัติกู้

(12 ธ.ค. 2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าว “แก้หนี้ทั้งระบบ” ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวาระแห่งชาติแล้ว ดังนั้น รัฐบาลเล็งเห็นว่า การดูแลลูกหนี้ในระบบ ก็เป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกัน โดยรัฐบาล จะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ ทั้งการจัดการกวาดล้างหนี้นอกระบบ และการดูแลลูกหนี้ในระบบ ให้ได้รับสินเชื่ออย่างเหมาะสมเป็นธรรม

ทั้งนี้ นายกฯ ได้แบ่งกลุ่มลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อช่วยเหลือตามเหตุของปัญหา และให้สอดคล้องลักษณะลูกหนี้ ได้แก่

 

 

กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ชำระหนี้ดีมาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ขาดสภาพคล่อง หรือบางรายเป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงเวลาดังกล่าว และไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้ จะต้องได้รับการช่วยเหลือ "พักชำระหนี้" ผ่อนปรนภาระชั่วคราว

 

 

สำหรับลูกหนี้รายย่อย รัฐบาลได้กำหนดให้ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้ความช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย โดยคาดว่า จะสามารถช่วยได้ประมาณ 1,100,000 คน ส่วนลูกหนี้ที่เป็น SME และบุคคล สถาบันการเงินของรัฐ จะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ และพักหนี้ในธนาคารของรัฐ เป็นเวลา 1 ปี โดยคาดว่า จะสามารถช่วยได้ร้อยละ 99

 

กลุ่มที่ 2 กลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก เกินศักยภาพชำระหนี้ แบ่งเป็นกลุ่มย่อย ได้แก่

 

  • “กลุ่มข้าราชการ” ครู ตำรวจ ทหาร ฯลฯ จะได้รับความช่วยเหลือผ่านการลดดอกเบี้ยสินเชื่อ และโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น สหกรณ์ เพื่อให้สามารถตัดยอดชำระหนี้ ให้สอดคล้องกับเงินเดือนได้ และให้มีเงินเหลือสำหรับดำรงชีพ ซึ่งหากข้าราชการประสบปัญหาหนี้สินในธนาคารอื่นๆ ให้สามารถปรึกษาธนาคารออมสินได้
  • “กลุ่มหนี้บัตรเครดิต” หากมีหนี้เสีย สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัทบัตรเครดิตรายใหญ่เกือบทั้งหมด ในการปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการนำเงินต้นคงค้าง มาทำตารางผ่อนชำระใหม่ และลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 3-5% จาก 16-25% ระยะเวลาการผ่อน 10 ปี

 

 

กลุ่มที่ 3 กลุ่มลูกหนี้ ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร, ลูกหนี้เช่าซื้อ หรือ กยศ.จะได้รับการพักชำระหนี้ชั่วคราว ลดดอกเบี้ย และลดเงินผ่อนแต่ละงวด เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น เกษตรกร รัฐบาลมีการโครงการพักชำระหนี้แล้ว 3 ปี, ลูกหนี้ กยศ. มีการปรับโครงสร้างหนี้, ลดดอกเบี้ย, ปรับลำดับการชำระ และยกเลิกการค้ำประกัน

 

 

กลุ่มที่ 4 ลูกหนี้เช่าซื้อ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ เช่น กรณีการเช่าซื้อรถใหม่ ดอกเบี้ยจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 และรถจักรยานยนต์ ไม่เกินร้อยละ 23 รวมถึงให้ลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระให้ต่ำลง และให้มีส่วนลด หากลูกหนี้ ปิดค่างวดได้ก่อนกำหนด

 

 

นายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า กลุ่มหนี้เสียคงค้างระยะเวลายาวนาน จะมีการโอนหนี้ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ปรับโครงสร้างหนี้ให้คล่องตัว และคาดว่า จะสามารถช่วยลูกหนี้ได้ประมาณ 3,000,000 คน และกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้เจ้าหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถการชำระ ลดดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี โดยให้ปิดบัญชีภายใน 5 ปี

 

 

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้หลายกลุ่มครอบคลุม พร้อมยอมรับว่า ทั้งหมดนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพื่อต่อลมหายใจให้ลูกหนี้ แต่ในระยะยาว จะต้องมีการปรับโครงสร้าง ยกระดับการให้บริการสินเชื่อให้เป็นธรรม สะท้อนความเสี่ยงลูกหนี้ มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันปัญหาการก่อหนี้เกิดศักยภาพ โดยให้คำนวณอัตราดอกเบี้ย ตามความเสี่ยงลูกหนี้ และการผ่อนชำระ ต้องให้ลูกหนี้เหลือเพียงพอสำหรับการดำรงชีพ หรือพิจารณาการข้อมูลอื่นประกอบการปล่อยสินเชื่อ เช่น ประวัติการชำระค่าน้ำ ค่าไฟ การผลักดันให้สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือ เครดิตยูเนียน ไปยังบริษัทสินเชื่อ เพื่อให้สามารถประเมินความสามารถการชำระหนี้ของลูกหนี้ และการตัดเงินเดือน เพื่อชำระหนี้ได้อย่างเป็นธรรม

 

 

นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงว่า ไม่ได้กล่าวหาว่า การเป็นหนี้เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย เพราะมีหนี้ดีที่นำไปจับจ่ายใช้สอย ก่อให้เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจ ดังนั้น การมีลูกหนี้ที่ดี จึงเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศโดยรวม แต่สภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อติดขัด จนเกิดการสะสมปัญหา และถึงเวลาที่ภาครัฐต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ให้กลับมาเป็นกลไกเศรษฐกิจที่สำคัญ